ข่าวทั่วไป : จับตาวินาศกรรมทะเลญี่ปุ่น-ฟุกุชิมะฯ จ่อทิ้งน้ำกัมมันตรังสี 7.7 แสนตัน

       น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีทริเทียมที่ใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 ปริมาณมากกว่า 7.77 แสนตัน กำลังจะถูกปล่อยลงสู่ทะเลญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางการคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มชาวประมงท้องถิ่น

        ความชัดเจนของเหตุการณ์ดังกล่าว มีขึ้นภายหลังสื่อสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Japantimes รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2560 ว่าขณะนี้คณะทำงานของบริษัทผลิตบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ได้ลงมติเห็นชอบเป็นการภายใน เพื่อปล่อยน้ำปนเปื้อนสารทริเทียมซึ่งเป็นน้ำที่เคยใช้ฉีดกลับไปหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเหตุการณ์ระเบิดขนาดใหญ่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 จำนวนกว่า 7.77 แสนตัน ซึ่งถูกเก็บในแทงค์น้ำขนาดใหญ่ราว 580 ถัง ลงสู่ทะเล

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับ “ไฟเขียว” จากรัฐบาลญี่ปุ่นก่อน

        “คณะกรรมการจากเทปโกได้ลงมติกันแล้ว ซึ่งหากเราไม่ได้รับสัญญาณและการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ การตัดสินใจครั้งนี้ก็คงไม่อาจมีได้” ทาคาชิ คาวามูระ ประธานเทปโกให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น

        เอลีน มิโยโกะ สมิท นักเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Telegraph สื่อยักษ์ใหญ่เมืองผู้ดีว่า คณะทำงานของบริษัทฯ ได้อธิบายว่าการทิ้งน้ำปนเปื้อนทริเทียมจะปลอดภัย เพราะทะเลนั้นกว้างใหญ่พอจะเจือจางสารเคมีได้ ซึ่งหากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานในการจัดการกับกากของเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการทิ้งมันลงไปในทะเลที่ทุกคนเป็นเจ้าของ

       ขณะที่ คันจิ ทักคิยะ หัวหน้ากลุ่มชาวประมงท้องถิ่น กล่าวว่า ทำนายไม่ได้เลยว่าการปล่อยน้ำเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเลนี้ จะสร้างฝันร้ายให้แก่ชาวบ้านมากขนาดไหน

        แม้ว่าน้ำทิ้งในกระบวนการหล่อเย็นดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากบริษัทเทปโกว่าเป็นน้ำที่ผ่านระบบคัดกรองที่ดึงสารกัมมันตรังสีกว่า 62 ชนิดออกไปหมดแล้ว ยกเว้นเพียงแต่ทริเทียมที่ไม่สามารถกำจัดออกจากน้ำได้ แต่พวกเขาก็ยืนยันอีกเช่นกันว่าทริเทียมที่อยู่กับน้ำจำนวนมหาศาลนั้น มีการปนเปื้อนที่น้อยมากและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เว้นไว้เสียจะรับเข้าไปในปริมาณมาก

       อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์หนึ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งเรื่องอันตรายจากสารทริเทียม เมื่อคณะทำงานฯ ได้พัฒนา “ปลาโรบอท” ขึ้นมาเพื่อปล่อยให้ลงไปสำรวจและตรวจระดับสารเคมีของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ระเบิดในปี 2011 นั้น ขณะนี้กลับตายเสียแล้ว

       ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อทั้งในและต่างประเทศ โดยนิตยสาร Newsweek แห่งสหรัฐอเมริกา ถึงกับตั้งคำถามว่า แม้แต่หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นให้พร้อมอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวยังตาย จึงเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการระเบิดครั้งนั้นจะมหาศาลกว่าที่เราคิด

         อย่างไรก็ตาม โตชิบา บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น เพิ่งประกาศว่าได้พัฒนาโรบอทตัวใหม่ที่ชื่อ ‘little sunfish’ เข้าไปปฏิบัติการณ์ต่อไป

        สำหรับภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ เกิดขึ้นหลังการโจมตีของคลื่นยักษ์สูง 10 เมตรเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี2011 หลังจากนั้น 1 วัน คือในวันที่ 12 มี.ค.ปีเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกได้รับรายงานว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ หมายเลข 1 ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ เป็นเหตุให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องในจำนวน 6 เครื่องขาดสารหล่อเย็น จนทำให้เกิดการระเบิดและมีสารกัมมันตภาพรังสีถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมาก

         เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 1.9 หมื่นราย และมีอีกกว่า 1.6 แสนคน ต้องสูญเสียบ้านและที่อยู่อาศัย และมีการประเมินว่าภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภัยพิบัติเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 โดยทีมวิจัยเริ่มลงสำรวจพื้นที่โดยรอบและได้ผลลัพธ์ที่ไม่ผิดความคาดหมาย นั่นก็คือสิ่งแวดล้อมโดยรอบมีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมาก

        นอกจากนี้ ยังมีรายงานเก่าเมื่อปี 2013 ว่ามีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่เก็บอยู่ในแทงค์ รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีน้ำที่รั่วไหลออกมาและลงสู่ทะเลเป็นจำนวนเท่าไร

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพข่าวจาก  https://greennews.agency/?p=14497
http://www.newsweek.com/fukushima-nuclear-waste-dumped-ocean-japanese-protests-637108
http://www.newsweek.com/robots-sent-fukushima-have-died-435332