ข่าวแม่สอด : ชาวนครแม่สอด การประชาคมยกมือสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นและดูแลประชาชนแบบยั่งยืน

ชาวนครแม่สอด การประชาคมยกมือสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นและดูแลประชาชนแบบยั่งยืน

      เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ดร.ฝอ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมคณะผู้บริหารรองนายกเทศมนตรี-ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี- สมาชิกสภาเทศบาล(สท.)นครแม่สอด-ผู้อำนวยการกองฝ่าย-หัวหน้าส่วนการงานเทศบาลนครแม่สอด เดินทางมาร่วมประชุมกับประธานและคณะกรรมการชุมชน และประชาชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด 20 ชุมชน กว่า 1,000 คน ที่ ศูนย์กลางการแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (OTOP) เทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีการทำประชาคมชาวบ้านเพื่อการพัฒนานครแม่สอดในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย

      1.ประชาคมยกฐานะเทศบาลนครแม่สอด เป็น ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด เช่นเดียวกับพัทยาและกรุงเทพมหานคร ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดให้ อำเภอแม่สอด, อำเภอพบพระ, และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก” ประกอบกับมีมติการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เรื่องการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างสองเมืองเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวทางการค้าชายแดน และการลงทุนระหว่างกัน และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศในภาพรวม

      รวมทั้งสนับสนุนสอดคล้องกับการจัดตั้งนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ต้องมาดูแลสังคม และการจัดบริการสาธารณะรองรับการเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนคร แม่สอด พ.ศ… นั้น เทศบาลนครแม่สอด มีพื้นที่อยู่ในใจกลางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความเจริญเป็นศูนย์รวมของธุรกิจการค้า การลงทุน การเงิน การธนาคาร ฯลฯ โดยเทศบาลต้องรับภาระในการช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรและเครื่องมือในการให้บริการด้านต่างๆ ในพื้นที่ ท้องถิ่นข้างเคียง และเทศบาลเมืองเมียวดี สหภาพเมียนมาด้วย ประกอบกับได้มีการประชุมหารือร่วมกันของภาคเอกชน จังหวัดตาก (หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้แทนชมรมธนาคาร ผู้ประกอบการขนส่ง) และเทศบาลนครแม่สอด มีมติร่วมกันเห็นควรนำพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนำมาปรับใช้กับเทศบาลนครแม่สอดในเตรียมการยกฐานะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเช่นเดียวกับเมืองพัทยา โดยเตรียมเสนอเรื่องไปยังจังหวัดตาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป

      โดยข้อเสนอ :.เพื่อให้เทศบาลนครแม่สอด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่หรือเมืองที่มีลักษณะพิเศษให้สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างพอเพียงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมโยงความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง Sister City (แม่สอด-เมียวดี) ตามนโยบายของรัฐบาล และเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของภาคเหนือ จังหวัดตาก และอำเภอแม่สอด จึงเห็นควรพิจารณานำพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาพ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำมาปรับใช้กับเทศบาลนครแม่สอดในเตรียม การยกฐานะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (เฉพาะพื้นที่ในเขตเทศบาล) เช่นเดียวกับเมืองพัทยาในโอกาสต่อไป
รวมทั้งข้อเสนอการนำ พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาปรับใช้กับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

      ตามที่ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สำหรับเหตุผลสำคัญในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง หากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบและโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วจะทำให้การใช้ที่ดินในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตรกรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าวไม่มีการวางแผน การบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย

      ในขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะมีความสำคัญเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าชายแดน ตั้งอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เป็นครัวของประเทศ โดยที่ผ่านมามีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า ปีละ 80,000 ล้านบาท แต่ติดปัญหากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่มีการวางแผนการบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ประกอบกับได้มีการประชุมหารือร่วมกันของภาคเอกชนจังหวัดตาก (หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้แทนชมรมธนาคาร ผู้ประกอบการขนส่ง) และเทศบาลนครแม่สอด มีมติร่วมกันเห็นควรนำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาใช้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยเตรียมเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป

      ข้อเสนอ.:.เห็นควรโปรดพิจารณานำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาใช้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

     3.อีกประเด็นในการทำประชาคม คือ ขอรับการสนับสนุนรัฐบาล ตามนโยบายของพรรคการเมือง ได้แก่
– เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท อายุ 60 ปี ขึ้นไปทุกคน
– ค่าป่วยการของ อาสาสมัครสาธารณสุข( อสม.)เดือนละ 2,500 บาท
– ค่าตอบแทนประธานชุมชน/คณะกรรมการชุมชน.โดยให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบ การจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งเคยมีการนำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย แล้วให้กระทรวงมหาดไทยนำมาพิจารณาออกระเบียบให้ด้วย
– ค่าดูแลเด็กแรกเกิด ถึง 8 ปี เดือนละ 1,200 บาท
– ค่าใช้จ่ายของเยาวชน 18 – 22 ปี เดือนละ 2,000 บาท
– กัญชาเสรีเป็นนโยบายที่ดี

     ขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมถูกต้องตามกฎหมายเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่เห็นควรโปรดพิจารณาสนับสนุนและผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆให้ครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

     4.ยุทธศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)14 ตำบล 3 อำเภอในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก/การประสานแผน/สนับสนุนงบประมาณเช่นเดียวกับงบผู้ว่า CEO/ขอรับการสนับสนุนรถดับเพลิง อปท.แห่งละ 1 คัน- ให้มีคณะกรรมการประสานแผน อปท..14.ตำบล ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยโดยตรง.เหมือนกับงบ.CEO.จังหวัดที่ขอตรงไปยังกระทรวงมหาดไทย- การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อรถดับเพลิง ทั้ง อปท. 14 ตำบล ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก แห่งละ 1 คัน

      รายงานข่าวแจ้งว่า เทศบาลนครแม่สอด ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลนครแม่สอด 5 ปี (2561-2565) ตามกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.3/ว 2931.ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เรื่องซักซ้อมแนวทางการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561 – 2565) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 กระทรวงมหาดไทยพิจาณาแล้วเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 มาตรา 19 วรรคสาม กำหนดให้เมื่อแผนพัฒนาจังหวัดได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศใช้แล้ว การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการดำเนินกิจการของจังหวัดและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดดังกล่าว ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ข้อ 7 กำหนดให้แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาภาคมีระยะเวลาห้าปี รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด ตลอดจนสามารถบูรณาการแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม และงบประมาณในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน

     ในการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่นอาจใช้ข้อมูลจากแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี ฉบับปัจจุบันมาทบทวน และปรับใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นท้องถิ่น (พ.ศ.2561 – 2565) โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบฯ.เพื่อที่จะนำโครงการมาเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี.ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นกับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด.โดยให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นดำเนินการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561 – 2565) แล้วเสร็จภายในวันที่.15 มิถุนายน 2562

โดยในการทำประชาคมครั้งนี้ประชาชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด ยกมือเห็นด้วยในทุกประเด็นทุกข้อเสนอ

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก สยามรัฐ