ข่าวแม่สอด : บวท.เผยเที่ยวบินเพิ่ม 6% จับมือกรมอุตุฯ ส่งข้อมูลเรียลไทม์ลดบินวน

บวท.เผยเที่ยวบินเพิ่ม 6% จับมือกรมอุตฯ ส่งข้อมูลเรียลไทม์ลดบินวน

       บวท.เผยเที่ยวบินช่วงฤดูหนาวประมาณ 2,900-3,000 เที่ยวบิน/วัน เพิ่ม 6% เผยแผนสร้างและปรับปรุงหอบังคับการบิน “เบตง-แม่สอด” ระบุเที่ยวบินเพิ่ม และจับมือกรมอุตุฯ พัฒนาระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและเรียลไทม์ ลดปัญหาบินวนรอและเผชิญอากาศแปรปรวน

       นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ในช่วงตารางบิน ฤดูหนาว ปี 2562 (winter Schedule) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินประมาณ 2,900 -3,000 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีประมาณ 2,800 เที่ยวบินต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มความถี่ ส่วนการเปิดจุดบินใหม่จะเป็นการบินแบบข้ามภาค ทั้งนี้ เป็นการเติบโตตามอุตสาหกรรมการบินของทั้งภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี

       ทั้งนี้ บวท.ยังมีแผนปรับปรุงและสร้างหอบังคับการบินให้สอดคล้องกับการพัฒนาขยายขีดความสามารถของสนามบินต่างๆ ได้แก่ การก่อสร้างหอบังคับการบินเบตง และสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศ ดำเนินการปี 61-64 วงเงินรวม 130.26 ล้านบาท หอบังคับการบินแม่สอดแห่งใหม่ ระยะเวลาดำเนินการปี 62-63 วงเงินรวม 56.67 ล้านบาท

       วันนี้ (27 ก.ย.) บวท. และกรมอุตุนิยมวิทยาได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (Letter of Agreement : LOA) การปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยาการบินร่วมกัน เพื่อให้การบริการด้านอุตุนิยมวิทยาการบินที่สนับสนุนการเดินอากาศทั้งในและระหว่างประเทศเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่ให้การจัดส่งข้อมูลเป็นแบบรูปภาพและกราฟิก แทนข้อมูลแบบข้อความและตัวเลข ภายในปี 2563

       นายสมนึกกล่าวว่า สภาพอากาศมีผลต่อการบิน หากอากาศแปรปรวนเครื่องบินจะดีเลย์ หรือต้องบินวนรอ หากมีข้อมูลที่รวดเร็ว แม่นยำ รู้สภาพอากาศได้ก่อน จะจัดสรรการบิน จัดเส้นทางหลบเลี่ยงสภาพอากาศแปรปรวนได้ก่อนที่จะไปเผชิญเหตุ โดยปัจจุบัน ข้อมูลที่กรมอุตุฯ ส่งมาเป็นตัวอักษรและตัวเลข ใช้เวลาตีความ วิเคราะห์ ซึ่งอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ และจะมีการอัปเดตข้อมูลทุก30 นาที สำหรับสนามบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่น และทุก 1 ชม.สำหรับสนามบินที่มีเที่ยวบินน้อย ส่วนเส้นทางบินระยะไกลจะมีข้อมูล 6-8 ชม. ทำให้เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนอาจจะปรับไม่ทัน แต่รูปแบบใหม่จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์อีกด้วย

       ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปี 61-63 กรมอุตุฯ ได้ลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทในการจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศแบบ Dopper ชนิด S -band ที่สนามบินสุวรรณภูมิ, เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ ที่สนามบินทั่วประเทศ, ระบบแจ้งเตือนฟ้าผ่าที่สุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือน

       สำหรับโครงการจัดหาระบบบูรณาการสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยาการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เป็นระบบที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีการทำงานแบบบูรณาการ ทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ในการผลิตข้อมูลพยากรณ์อากาศและบริการข่าวอากาศการบิน และปรับปรุงห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามสภาวะอากาศจะแล้วแสร็จใช้งานได้สมบูรณ์กลางปี 2562

       โดยมีการปรับปรุง/พัฒนาระบบ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่

1. พัฒนาการรับและแสดงผลข้อมูลการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขด้านการบินของศูนย์พยากรณ์อากาศโลก ให้เป็นรุ่นที่ทันสมัยจาก grib1 เป็น grib 2 ซึ่งมีความละเอียดมากขึ้น

2. พัฒนาระบบการสื่อสารข้อมูลอุตุนิยมวิทยาการบิน ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยากับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จาก analog เป็น digital มีความเร็วและเสถียรมากขึ้น

3. พัฒนาโมเดลด้านพยากรณ์อากาศการบินที่มีความละเอียดขึ้น 6 ระดับบินมาตรฐาน 4. มีศักยภาพเป็นคลังข้อมูลอุตุนิยมวิทยาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้บริการข้อมูลและสารสนเทศอุตุนิยมวิทยาในรูปแบบ METADATA

       โดยจะทำให้กรมอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลสารสนเทศอุตุนิยมวิทยาการบินที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้งาน รวดเร็ว และครอบคลุมทุกสนามบินทั่วประเทศ รวมทั้งมีระบบสื่อสารอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับ-ส่ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในรูปแบบที่หลากหลาย ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online