ข่าวทั่วไป : “ปลาพญานาค” ติดอวนที่ญี่ปุ่น ลือหวั่นเกิดสึนามิ

“ปลาพญานาค” ติดอวนที่ญี่ปุ่น ลือหวั่นเกิดสึนามิ

ปลาพญานาคขนาดยักษ์ 2 ตัวติดอวนของชาวประมงของญี่ปุ่น จนเกิดเสียงร่ำลือว่าอาจเป็นสัญญาณแห่งภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ

       เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ปลาพญานาค หรือ oarfish 2 ตัวถูกจับได้ที่จังหวัดโทยามะ ทางภาคเหนือของญี่ปุ่น โดยเป็นปลาพญานาคตัวที่ 7 ที่พบในฤดูกาลนี้ โดยก่อนหน้านี้ ปลาพญานาคความยาว 3.2 เมตร ถูกซัดมาเกยตื้นที่ชายหาดโทยามะ และอีกตัวหนึ่งที่มีความยาว 4 เมตรติดอวนของชาวประมงที่อ่าวอิมิสุ

      พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโนโทจิมะได้แสดงปลาพญานาคที่พบล่าสุดนี้มี 3.84 เมตร นอกจากนี้ยังมีปลาหมึกยักษ์ความยาว 3.22 เมตรมาจับมาได้ในคราวเดียวกัน โดยถือเป็นครั้งแรกที่สัตว์ทะเลลึกขนาดยักษ์ถูกจับได้ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโนโทจิมะเปิดทำการปี 1982
      ปลาพญานาคอาศัยอยู่ในทะเลลึกระดับ 200 ถึง 1,000เมตร มีเกล็ดสีเงิน ครีบสีแดง ลำตัวยาว จนเป็นที่มาของชื่อ ปลาพญานาค การที่ปลาน้ำลึกเช่นนี้เกยตื้นหรือติดอวนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จนมีเสียงร่ำลือว่าอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงใต้ทะเลลึกซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภัยพิบัติ

        ตำนานของญี่ปุ่นที่เชื่อว่าปลาชนิดนี้คือ “ผู้ส่งสาส์นจากวังแห่งเทพใต้สมุทร” โดยจะมาเกยตื้นก่อนหน้าที่จะเกิดสึนามิใหญ่ หากแต่นักวิทยาศาสตร์ปฏิเสธความเชื่อนี้

       คาซูสะ ไซบะ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอุโอซุ ระบุว่า “ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ถึงความเชื่อว่าปลาพญานาคจะปรากฏก่อนแผ่นดินไหวใหญ่ แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธความเป็นไปได้ 100% เช่นกัน”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อน ทำให้เราพบเห็นปลาพญานาคหรือเพราะเหตุผลอื่นที่ยังไม่ทราบแน่ชัด

ในปี 2011 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นสึนามิถล่มพื้นที่ฟูกูชิมะ คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 20,000 คน ปลาพญานาคหลายสิบตัวได้ถูกซัดมาเกยตื้นในปีก่อนหน้า เหมือนจะเป็นสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า

        ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การมีความเปลี่ยนแปลงที่ใต้ท้องทะเลก่อนหน้าการเกิดแผ่นดินไหว ทำให้กระแสน้ำปั่นป่วน และสัตว์ใต้ทะเลลึกต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ

        โอซามุ อินามูระ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอุโอซุ อ้างถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ว่า ปลาพญานาคติดตามแหล่งอาหาร คือ พวกกุ้งฝอย โดยเมื่อกุ้งฝอยลอยขึ้นสู่ผิวน้ำตามแพลงตอน ก็อาจทำให้ปลาพญานาคที่ติดตามแหล่งอาหารมาขึ้นสู่ผิวน้ำตามมาและติดอวนของชาวประมง.

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก  MGR  Online