ข่าวต่างประเทศ : ยอดตาย ‘สึนามิ’ อิเหนาพุ่ง 281 ราย-บาดเจ็บกว่า 1,000 คน

ยอดตาย ‘สึนามิ’ อิเหนาพุ่ง 281 ราย-บาดเจ็บกว่า 1,000 คน

เอเอฟพี – หน่วยกู้ภัยอินโดนีเซียฝ่าฟันฝนที่ตกลงมาอย่างหนักวันนี้ (24 ธ.ค.) เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุสึนามิที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งขึ้นไปถึง 281 ราย และมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจเกิดคลื่นยักษ์ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งซ้ำอีก

สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซียคาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตคงจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีประชาชนสูญหายอีกไม่ต่ำกว่า 50 คน ส่วนยอดผู้บาดเจ็บนั้นขยับเพิ่มไปเป็นกว่า 1,000 คนแล้ว

     “ตัวเลขเหยื่อและความเสียหายคงจะเพิ่มขึ้นอีก” สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติอิเหนา ให้สัมภาษณ์

ทีมกู้ภัยใช้พลั่วและเครื่องจักรกลหนักยกเศษซากปรักหักพังเพื่อค้นหาร่างผู้สูญหายตามชุมชนชายฝั่งรอบๆ ช่องแคบซุนดาซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อคืนวันเสาร์ (22) ขณะที่ชาวบ้านหลายพันคนได้รับคำสั่งให้อพยพ

      “ทหารและตำรวจกำลังค้นหาตามซากบ้านเรือนเพื่อดูว่าจะมีเหยื่อติดอยู่หรือไม่” โดดี รุสวันดี เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติระบุ พร้อมเสริมว่าปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้น่าจะกินเวลาราว 1 สัปดาห์

      สิ่งปลูกสร้างหลายร้อยหลังตลอดแนวชายฝั่งตอนใต้ของเกาะสุมาตราและส่วนปลายด้านตะวันตกของเกาะชวาพังเสียหายด้วยอานุภาพของคลื่นยักษ์ซึ่งซัดถล่มเมื่อเวลา 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว ในช่องแคบซุนดาเกิดระเบิดอย่างรุนแรง

     ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างแชร์คลิปวิดีโอขณะที่กำแพงน้ำซัดเข้าทางด้านหลังเวทีคอนเสิร์ตของวงดนตรีป๊อป ‘Seventeen’ จนสมาชิกในวงร่วงตกจากเวที ก่อนจะถาโถมเข้าใส่ผู้ชมนับร้อยบนชายหาด ตันจุง เลอซุง (Tanjung Lesung) ในจังหวัดบันเติน

      ล่าสุด มีรายงานว่าสมาชิกวง Seventeen เสียชีวิตไป 2 คนพร้อมผู้จัดการ ส่วนอีก 3 คน รวมถึงภรรยาของนักร้องนำ ยังค้นหาไม่พบ

       ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่ประสบภัยในวันนี้ (24) หลังเพิ่งผ่านเหตุการณ์สึนามิในเมืองปาเลาบนเกาะสุลาเวสีมาได้ไม่ถึง 3 เดือน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เนื่องจากตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟ (Ring of Fire) ในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกมาบรรจบกัน

     ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สึนามิที่เกิดตามหลังภูเขาไฟระเบิดเมื่อวันเสาร์ (22) น่าจะเป็นเพราะบางส่วนของภูเขาไฟที่อยู่ใต้ทะเลเกิดการพลังทลาย

      อานัก กรากะตัว ซึ่งเป็นเกาะภูเขาไฟเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตราเพิ่งจะปรากฏตัวขึ้นในปี 1928 บนปากปล่องเดิมของภูเขาไฟกรากะตัวซึ่งเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อปี 1883 และคร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 36,000 คน

เถ้าถ่านที่ฟุ้งกระจายจากการระเบิดครั้งนั้นยังส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกลดต่ำลงเป็นเวลาหลายปี

      ริชาร์ด ทีว จากมหาวิทยาลัยพอร์ธสมัธในอังกฤษ เตือนว่ายังมีโอกาสที่จะเกิดสึนามิในช่องแคบซุนดาซ้ำอีก ระหว่างที่กิจกรรมของภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว ยังอยู่ในระดับสูง

     เจ้าหน้าที่อิเหนามีเวลาแจ้งเตือนประชาชนค่อนข้างสั้นมาก แตกต่างจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลซึ่งส่วนใหญ่จะมีระบบเตือนภัยได้ล่วงหน้านานเป็นชั่วโมง

     “มันเกิดขึ้นเร็วมากๆ” อาเด จูเนดี หนึ่งในผู้รอดชีวิตให้สัมภาษณ์ “ผมกำลังคุยกับแขกที่มาเยี่ยมบ้าน พอภรรยาไปเปิดประตูเธอก็ร้องลั่น ผมนึกว่าไฟไหม้ แต่เมื่อเดินออกไปดูก็เห็นว่าคลื่นกำลังมาแล้ว”

      สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) ระบุว่า คลื่นยักษ์มีความสูงระหว่าง 30-90 เซนติเมตร

       มูลนิธิอ็อกซ์แฟมและองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศอื่นๆ ต่างเสนอให้ความช่วยเหลือแก่อินโดนีเซีย ขณะที่หน่วยกู้ภัยท้องถิ่นเร่งอพยพผู้บาดเจ็บและนำเต็นท์ผ้าใบมากางเพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

      “ช่วงนี้มีฝนตกหนักและลมแรง เราจึงมีเวลาไม่มากนักจะที่จะอพยพประชาชนและเก็บกวาดซากปรักหักพัง” บาสุกี ฮาดีมุลโยโน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะแห่งอินโดนีเซีย ระบุ

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online