ข่าวทั่วไป : สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เลิกจ้างรับเงินชดเชยสูงสุด 400 วัน

สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เลิกจ้างรับเงินชดเชยสูงสุด 400 วัน

       สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์ 7 เรื่อง อายุงานเกิน 20 ปี ถูกเลิกจ้างได้ค่าชดเชย 400 วัน บังคับใช้ ก.พ. 62

       นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แล้ว โดยที่ประชุม สนช. เห็นชอบทั้งหมด 25 มาตรา หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันจะมีผลบังคับใช้ทันที ถือเป็นของขวัญปีใหม่ได้ และน่าจะบังคับใช้ได้ก่อนเลือกตั้งกุ.พ. 2562 ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์  7 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1.ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี

2.ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน

3.กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปีก็ได้รับ 400 วัน

4.ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าขดเชย 30 วัน อัตราที่  2  ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน  อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน  อัตราที่ 4  ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย  240 วัน  อัตราที่  5   ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย  300 วัน และอัตราที่ 6  ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

5.กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อี่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตรา ซึ่งกฎหมายเก่าไม่ได้เลย เราต้องตามไป แต่ของใหม่ให้สิทธิเราเลือกได้

6.กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนขับรถส่งของ ก็เป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้องขอ แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

7.ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด แต่ของใหม่เราเพิ่มตรงนี้ว่า ลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกันต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน  ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  ฉบับที่ 100

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก MGR Online