ข่าวตาก  :  สัมมนาระดมความคิดพัฒนาจังหวัดตาก  เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

         วันนี้ (6 ก.พ. 59 ) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมทองกวาวชั้น 2 อาคารเรียนรวมและสารนิเทศเฉลิมพระเกียรติ 84 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประพัฒน์ เชื้อไทย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก ให้การต้อนรับพลเอกเดชา ปุญญบาญ อดีตประธานกรรมาธิการ ปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเรียนรู้ภาษาเมียนมา มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้เดินทางมาร่วมการประชุม สัมมนาระดมความคิด พัฒนาจังหวัดตาก เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

         การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิด จากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาเป็นแนวทาง ในการพัฒนา และขับเคลื่อนจังหวัดตากเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่หลากหลาย เป็นตัวนำในการพัฒนา ซึ่งในช่วงเช้าเป็นการปาฐกถา และบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ 1 เศรษฐกิจการค้าอุตสาหกรรม กลุ่มที่ 2 การศึกษาแรงงานการมีส่วนร่วม กลุ่มที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และกลุ่มที่ 4 กรอบแนวคิดการพัฒนาจังหวัดตาก

          นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้บรรยายพิเศษ เรื่องที่มาและความสำคัญ ในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากว่า จังหวัดตาก เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลโดยตรง ทำให้จังหวัดตากต้องเตรียมพร้อมและรองรับ การขยายตัวจากนโยบายต่างๆ พร้อมขับเคลื่อนต่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในทุกด้าน ให้มีความสามารถ ในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สัมมนาระดมความคิดพัฒนาจังหวัดตาก เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
สัมมนาระดมความคิดพัฒนาจังหวัดตาก เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

          พลเอกเดชา ปุญญบาญ อดีตประธานกรรมาธิการ ปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ในด้านนโยบายรัฐบาล การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากและกำลังแรงงาน ได้มีการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยลดต้นทุนทางด้านการค้าผ่านแดน และการขนส่ง พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน เทคโนโลยีการตลาด การผลิต สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผู้อยู่อาศัย ด้วยการยกระดับรายได้ พัฒนาทักษะฝีมือ พัฒนาแนวพื้นที่พัฒนา ให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา จะเกิดในระดับประเทศ ระดับกลุ่ม GMS และเป็นแนวทางในการดำเนินการร่วม 6 ประเทศ

          ในส่วนของกรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมืองประเทศเมียนมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเรียนรู้ภาษาเมียนมา มหาวิทยาลัยนเรศวร และคุณพัชรีภรณ์ ยะคำนะ ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง กรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจพิเศษสังคมและการเมืองประเทศเมียนมา โดยกล่าวว่าเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย 14 เขต ตามความแตกต่างของเชื้อชาติ เป็นคู่ค้าสำคัญของเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งเมียนมาได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ทวาย ทิลาวา เจ้าผิว เมียวดี และปะเต้น

         ทั้งนี้การระดมความคิดจากทุกภาคส่วนจะเป็นแนวทางในการพัฒนา และขับเคลื่อนจังหวัดตาก โดยเฉพาะด้านแรงงานถือเป็นจุดแข็งในการรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะแรงงานจากประเทศเมียนมาเป็นแหล่งแรงงานสำคัญ ที่นิยมเดินทางเข้ามาทำงาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า และบริการในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้เติบโต สามารถแข่งขันกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก