ข่าวทั่วไป : เกือบสองร้อยประเทศบรรลุฉันทามติ เห็นพ้องกฎกติกาข้อตกลงลดโลกร้อน

เกือบสองร้อยประเทศบรรลุฉันทามติ เห็นพ้องกฎกติกาข้อตกลงลดโลกร้อน

รอยเตอร์ – เกือบ 200 ประเทศฝ่าฟันความแตกแยกทางการเมือง เห็นพ้องยอมรับกฎกติกาเพื่อบรรลุข้อตกลงลดโลกร้อน แต่ยังมีเสียงวิจารณ์ว่า ความสำเร็จนี้ยังไม่เพียงพอปกป้องผลกระทบอันตรายจากปัญหานี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

       ภายหลังการเจรจานาน 2 สัปดาห์ในเมืองคาโทวิซของโปแลนด์ ในที่สุดนานาชาติบรรลุฉันทามติในกรอบโครงที่ละเอียดขึ้นสำหรับข้อตกลงปารีส 2015 ที่ต้องการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) เหนือระดับก่อนอุตสาหกรรม

      มิชาล คูร์ติกา รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์และประธานการประชุม กล่าวเมื่อวันเสาร์ (15 ธ.ค.) ว่าการหาข้อตกลงในประเด็นทางเทคนิคที่เฉพาะเจาะจงไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้ข้อตกลงล่าสุดดูเหมือนเป็นแค่ขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ควรที่นานาชาติจะภูมิใจ

     ก่อนการหารือเริ่มต้น หลายฝ่ายคาดว่า ข้อตกลงนี้คงไม่เข้มแข็งอย่างที่ต้องการ เนื่องจากเอกภาพในการเจรจาที่ปารีสแตกออกเป็นเสี่ยง ที่สำคัญประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังประกาศนำอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ถอนตัวจากข้อตกลง

     อย่างไรก็ตาม ในชั่วโมงที่ 11 ของการหารือ บรรดารัฐมนตรีสามารถผ่าทางตันระหว่างบราซิลกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับกฎการจัดทำบัญชีเพื่อตรวจสอบคาร์บอนเครดิตหรือสิ่งทดแทนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยขยายเวลาการเจรจาไปเป็นปีหน้า รวมทั้งแก้ไขความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการกำหนดการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น วิธีที่ประเทศต่างๆ จะรายงานและตรวจสอบข้อผูกมัดของตนในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับปรุงแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทันสมัย

      อัลเดน เมเยอร์ จากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย แสดงทัศนะว่า แม้ยังต้องหารือองค์ประกอบบางอย่างกันต่อ แต่ต้องยอมรับว่า ข้อกำหนดการจัดทำบัญชีถือเป็นรากฐานที่จะเสริมสร้างข้อตกลงปารีส และอาจช่วยให้คณะบริหารในอนาคตของอเมริกาตัดสินใจกลับมาเป็นภาคีข้อตกลงอีกครั้ง

       อย่างไรก็ตาม บางประเทศและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ข้อตกลงล่าสุดล้มเหลวในการเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นอกจากนั้นประเทศยากจนที่เสี่ยงเป็นเหยื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการอุดหนุนงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีนับจากปี 2020 ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ และความพยายามในการแก้ไขโลกร้อนจากกองทุนดังกล่าวนับจากสิ้นทศวรรษ

      แถลงการณ์จากแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เดินทางออกจากที่ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ธ.ค.) ย้ำถึงความจำเป็นที่ชาติสมาชิกทั้งหมดจะต้องร่วมมือกันต่อไป รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว

      เมื่อเดือนตุลาคม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ได้เปิดเผยรายงานที่จัดทำขึ้นตามคำสั่งของยูเอ็นซึ่งเตือนว่า การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทุกภาคส่วนของสังคม

     คำแถลงของที่ประชุมแสดงความซาบซึ้งต่อการจัดทำรายงานดังกล่าว แทนที่จะใช้คำว่า “ยินดี” หลังถูกคัดค้านจากซาอุดีอาระเบีย อเมริกา รัสเซีย และคูเวต รวมทั้งยินดีที่รายงานเสร็จสมบูรณ์ทันเวลาและเชิญชวนภาคีต่างๆ นำข้อมูลในรายงานไปใช้ ซึ่งแม้ไม่ใช่ถ้อยคำที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับประเทศและหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำและเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ประเทศและหมู่เกาะเหล่านั้นก็จำเป็นต้องยอมรับเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขอื่นๆ

      ขณะเดียวกัน ในช่วง 2 สัปดาห์ของการเจรจา ได้โฟกัสเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเบี่ยงเบนความสนใจชนิดขัดใจบางประเทศและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่น่าสังเกตคือการเลือกจัดการประชุมในโปแลนด์ซึ่งพึ่งพิงถ่านหินและพยายามปกป้องอุตสาหกรรมเหมืองของตน รวมถึงการที่อเมริกาพยายามใช้ที่ประชุมนี้เพื่อล้างภาพลักษณ์ถ่านหินให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาด

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online