ข่าวทั่วไป : ประชาชนหนาว! “เอกชน” แห่ปลดพนักงาน สังเวย “เศรษฐกิจดี”

ประชาชนหนาว! “เอกชน” แห่ปลดพนักงาน สังเวย “เศรษฐกิจดี”

หลังจากที่รัฐบาลออกมาประกาศกร้าวว่า  “ปีนี้คนจนจะหมดประเทศ” ก็ถึงช่วงเวลาวัดผลอย่างช่วงสิ้นปีนี้ว่า คนจนจะหมดประเทศจริงไหม ? แล้วผลก็กลับออกมาเป็นอย่างที่นักวิชาการ ศิลปินและนักเขียนซีไรต์ หลาย ๆ ท่านออกปากแซวกันว่า “คนจนหมดประเทศจริงๆ เพราะตายหมด” นับเป็นวลีที่แสนจะเจ็บแสบ แต่ก็ไม่ไกลไปจากความจริงที่ว่า ช่วงสิ้นปีมีการประกาศ “เลิกจ้าง” หรือที่บางบริษัทเลือกที่จะใช้ภาษาสวยๆว่า “เกษียณก่อนกำหนด” ของหน่วยงานเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมากจนนับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างไม่สวยงามต่อเศรษฐกิจไทย !

ธุรกิจใหญ่เมืองไทย “ใครอยู่-ใครไป” ในรอบนี้บ้าง

      สถานการณ์การเลิกจ้างล่าสุดของบริษัทเอกชนที่ดำเนินการในไทย รายใหญ่ ๆ ที่นับว่าก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจไทยนั้น พอจะรวบรวมให้ฟังพอเห็นภาพได้ดังนี้  เริ่มต้นด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะปรับทัพครั้งใหญ่ ตั้งเป้า 3 ปี ลดพนักงานลง 12,000 คน  ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งกระแสนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่าธนาคารหลาย ๆ แห่งนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมออนไลน์มากยิ่งขึ้น และเพิ่มความสำคัญในการให้บริการด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้ลูกค้าหันมาใช้บริการออนไลน์ที่แสนจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ความสำคัญของ “หน้าบ้าน” จึงลดลงไปทุกที คงเหลือแต่การบริการสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากการฝาก ถอน จ่ายบิลในชีวิตประจำวัน

     ในขณะที่ธุรกิจการค้าเองนั้น มีข่าวว่า เทสโก้ โลตัส เตรียมปลดพนักงานถึง 45,000 คน พร้อมปิดสาขาอีก 43 สาขาทั่วประเทศ โดยต่อมานั้น บริษัทฯ ได้ออกมาทำความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้าที่มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่ส่วนงานที่สำคัญสำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยโครงสร้างทีมใหม่นี้จะลดขั้นตอน เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีความง่ายขึ้น

     แม้แต่ในธุรกิจสื่อเองก็เกิดความระส่ำระสายไม่แพ้กัน เริ่มจากการ  ปิดตำนาน 14  ปี Money Channel โดยจะยุติออกอากาศในวันที่ 1 มกราคม 2562 ที่จะถึงนี้ ตามมาด้วย สปริงนิวส์ และนิวทีวี  ที่ปรับลดพนักงานเกือบร้อยชีวิต ซ้ำสปริงนิวส์เองยังขายเวลารายการข่าวให้ ทีวีไดเร็ก ในขณะที่ วอยซ์ทีวี ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 127 คน  เพื่อปรับโครงสร้าง เน้นไปที่รูปแบบออนไลน์

      และที่สะเทือนวงการสื่อมวลชนมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นข่าว ช่อง 3 ปลดพนักงานเกือบร้อยคน ซึ่งภายหลังได้มีแถลงการณ์ชี้แจงโดยระบุว่า เป็นเพียง โครงการเกษียณอายุ ที่ถือเป็นทางเลือกให้กับพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งจำนวนผลตอบแทนที่มอบให้ในโครงการเกษียณก็สูงกว่าสิ่งที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้

ไม่เพียงแต่เอกชนไทยแต่ธุรกิจใหญ่ระดับโลกก็ปรับลดพนักงาน

       ไม่ใช่แค่เฉพาะเอกชนไทยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ธุรกิจใหญ่ระดับโลกต่างก็ปรับลดพนักงาน ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อสาขาในไทยไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นกระแสถาโถมเศรษฐกิจไทยอีกระลอก โดยมีองค์กรสำคัญที่น่าจับตาความเคลื่อนไหว ดังนี้

      เริ่มต้น สตาร์บัคส์ ได้ส่งบันทึกภายในองค์กรให้กับพนักงาน มีเนื้อหาว่า บริษัทต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ภายใต้การทำธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ จะรวมไปถึงการควบรวมบางตำแหน่งงานเข้าด้วยกัน การโยกย้ายขยับปรับเปลี่ยน และการปลดพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านการขาย การให้บริการ ในปี 2562 สตาร์บัคส์จะเพิ่มความระวังในการขยายธุรกิจมากขึ้น จากแผนเดิมที่จะปิดสาขายอดขายต่ำเฉลี่ย 50 สาขา แต่ปีหน้าจะปรับเพิ่มเป็น 150 สาขา รวมไปถึงลดการเปิดสาขาใหม่ด้วย

      อิเกีย ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีแผนที่จะปลดพนักงานราว 5% หรือ 7,500 ตำแหน่ง ในอีก 2 ปีข้างหน้าพร้อมปรับขนาดร้านให้เล็กลงเพื่อเข้าถึงลูกค้าในเมือง รวมถึงผู้ที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าในคลังสินค้าขนาดใหญ่ และเพิ่มการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น

      ตามมาด้วย  บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น เชฟโรเล็ต, คาดิแลค ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจำนวน 14,000 ตำแหน่ง พร้อมระงับการผลิตโรงงาน 5 แห่ง โดยบริษัทปรับแผนโครงสร้างมุ่งเน้นเจาะกลุ่มไปที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักแทน ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกระแสข่าวจากองค์กรใหญ่ ๆ อื่น ๆ อย่าง โตชิบ้า คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค หรือ คาร์ฟูร์  ที่เตรียมลดพนักงานเช่นกัน

หลากเหตุผลที่เหล่าเอกชนแห่ปลดพนักงานสะท้อนอะไรบ้าง

      การที่บริษัทต่าง ๆ แห่ปลดพนักงานนั้น ทางรอดของพวกเราชาวหนุ่มสาวออฟฟิศ จะอยู่ที่ตรงไหน อย่างไร ถ้าให้จับสังเกตจากเหตุผลของแต่ละองค์กรนั้น ก็ทำให้เราพอเห็นทางรอดได้อยู่บ้างนั่นก็คือ

ประการแรก  การพัฒนาทักษะพิเศษเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านการคิด การเขียน กีฬา หรือใด ๆ ที่เรารักและชอบไปให้สุดทาง ก็จะสามารถทำให้เราสร้างชิ้นงานที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพ ซึ่งแนวโน้มการมีทักษะเฉพาะทางนั้น ยิ่งยาก และเฉพาะทางมากเท่าใด ก็ยิ่งอยู่รอดได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น

ประการที่สอง  การมีรายได้หลายช่องทาง  ไม่ว่าจะเป็นงานพิเศษ หรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันในชื่อ “งานฝิ่น” ให้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้วยการบริหารเวลาอย่างมีระบบ แต่แนะนำว่า อย่างเรา ๆ ที่ไม่มีเงินหนา เงินเย็น ก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นเล่นหุ้น เก็งกำไรทอง แค่ทำงานเฉพาะกิจ รายได้เร็ว ก็เพียงพอแล้ว

ประการที่สาม การพัฒนาทักษะด้านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาโปรแกรม หรือเรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่แค่รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เข้าใจการตลาดออนไลน์ เรียนรู้การสื่อสารออนไลน์ หารายได้และใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์เป็น ก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้อยู่รอดแล้ว

เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ใครมากำหนดให้อีกตั้ง 20 ปีข้างหน้า คงไม่สามารถพึ่งพิงได้มากกว่าการยืนอยู่บนขาของเราอย่างมั่นคง !

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก Another View,LINE TODAY