บทความสุขภาพ-ความงาม  :  กรมควบคุมโรค แนะลดบริโภคเค็ม  ลดผู้ป่วยเด็ก ป้องกันดีกว่าแก้ไข

          สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “วันไตโลก” (World Kidney Day) และจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “โรคไตเป็นได้แต่เด็ก รู้แต่เล็กรักษาได้” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไตและปัจจัยหลักที่คนไทยบริโภครสเค็มมากเกินไป ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไตอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการรับประทานเค็มในเด็กเกินความพอดีอยู่ทั่วประเทศ ในวันที่ 13 มีนาคม 2559 นี้ ณ Atrium Zone ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

         นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรณรงค์ร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใส่ใจ หันมาบริโภคเค็มลดน้อยลง เพราะการรับประทานเค็มมากๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมอง ซึ่งจากการสำรวจของสำนักโภชนาการกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการกินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำจนเคยชินจะทำให้เรานั้นติดรสเค็มได้

         ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง นายกสมาคม โรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาการเริ่มแรกของโรคไต คือการบวมทั้งตัว ในระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตาและหน้าจะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่ามีอาการบวม ซึ่งอาการบวมเกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย โรคสำคัญที่ทำให้บวมก็คือ โรคไต โรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้นถ้ามีลักษณะการบวม ทั้งตัว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คและอาจจำเป็นต้องเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะด้วย

         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า ปัจจุบันจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้โรคไตก็สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ ซึ่งถ้าหากไม่รีบทำการรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็อาจนำ ไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้าย จึงทำให้ในปีนี้ จึงต้องทำการรณรงค์เรื่องโรคไตในเด็กให้ประชาชนตระหนักถึงการบริโภครสเค็ม หลังจากพบผู้ป่วยเด็กเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มสูงมากขึ้นจนน่ากลัว ซึ่งเป็นผลมาจากการรับสัปดาห์ไตโลกรณรงค์ลดเค็มลดผู้ป่วยเด็ก thaihealthประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปและการไม่ออกกำลังกาย จึงส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็ก ซึ่งการลดบริโภคโซเดียมลงมาต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในประชาชนจะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อย 10%

         ผศ.นพ.พรชัย กิ่งวัฒนกุล ประธานชมรมโรคไตในเด็ก กล่าวว่า อาการของโรคไตในเด็กจะมีความแตกต่างกัน เช่น สำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีอาการไข้สูง บวม จะมีปัสสาวะออกน้อย และมีโปรตีนรั่วออกไปในปัสสาวะ ซึ่งจะเรียกว่า โรคไตเนไฟรติส และบางคนปัสสาวะจะมีเม็ดเลือดแดงมาก เรียกว่า โรคไตเนไฟรติส ซึ่งจะอยูในกลุ่มคนโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งลักษณะอาการในภาพรวม จะปัสสาวะน้อย ร่างกายมีอาการบวมมาก ความดันเลือดสูง ตรวจพบเกลือแร่ผิดปกติ ไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง ในส่วนของการรักษาทดแทนไตในเด็กนั้น จะต้องทำการฟอกเลือดด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ใช้เวชภัณฑ์เฉพาะที่เหมาะกับเด็กและการปลูกถ่ายไต การป้องกันโรคไตในเด็ก จะต้องดูเรื่องโภชนาการ ลดน้ำลดเกลือและต้องดื่มน้ำให้พอเพียง สำหรับ ในกลุ่มไตวายเรื้อรัง ต้องปรับลดโปรตีน โพแทสเซียม และฟอสเฟต จากนมวัว ผัก ผลไม้ มันฝรั่ง และ น้ำอัดลม ในส่วนของการอักเสบจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะต้องเริ่มจากสุขอนามัยของการปัสสาวะ, ลดความอ้วน, รักษาความสะอาด และวินัยในการดูแลตนเอง เช่น การทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

        งาน “วันไตโลก” (World Kidney Day) และสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” เน้นการรณรงค์โรคไตในเด็กเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยเด็กป่วยเป็นโรคไตจำนวนมาก สาเหตุเนื่องจากมีการรับประทานเค็มในเด็กเกินความพอดี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องโรคไตในเด็ก มีการเสวนาเรื่องโรคไต มีการแสดงจากศิลปินและวงดนตรีชื่อดัง พร้อมดาราชื่อดังจากไทยทีวีสีช่อง 3 มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ยังมีการประกวดเต้นประกอบเพลง “อยู่ยืนนาน” ขับร้องโดย มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และการประกวดการแข่งขันโต้วาที ในหัวข้อ “กินเค็มอันตรายกว่ากินหวาน” เพื่อชิงเงินรางวัลชนะเลิศจำนวน 6,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณจากสมาคมโรคไตฯ และรองชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 4,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการประกอบอาหารที่ลดความเสี่ยงจากโรคไตอีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า, thaihealth