ข่าวทั่วไป  :  คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น ต้าน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เป็นภัยต่อผู้บริโภค

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น – คณะเภสัชศาสตร์ มข.ประชุมร่วมเครือข่ายหมอยาภาคอีสาน ประกาศจุดยืนต้าน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ลั่นต้องการปกป้องความปลอดภัยให้ผู้บริโภค จี้นายกฯ นำร่างฉบับแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ตามที่สหสาขาวิชาชีพและภาคประชาชนเสนอมาใช้แทน

         วันนี้ (9 มี.ค.59) ที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเภสัชกรรมภาคอีสาน และภาคีวิชาชีพ ร่วมกันจัดประชุมสมาชิกเครือข่ายเพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ…ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” (ฉบับ สคก.-ร่างที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 1017/2557)

          รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงประเด็นที่มีการทักท้วงล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักการสำคัญ เช่น การให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยาสามารถจัดการผลิต กระจาย แบ่งบรรจุแก่ผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับยาที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากยาที่ได้รับอาจเกิดอันตรกิริยาต่อกัน (ยาตีกัน, อาหารตียา, สารเคมีอื่นๆ ในร่างกายตีกับยา) การเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ไม่ได้มีการประเมินตามหลักเภสัชศาสตร์ เกิดการแพ้ยา การได้รับพิษสะสมจากการใช้ยา และการได้รับยาอันตรายที่เกินจำเป็นโดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับยาที่จัดเป็นชุด

           นอกจากนี้ ระบบยาของประเทศขาดความสมดุล ไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ของผู้สั่งใช้ยา และจ่ายยา ออกจากกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับยาโดยขาดการทวนสอบเพื่อความปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล รวมถึงมาตรการในการกำกับดูแลโฆษณามีความบกพร่องที่เปิดให้สามารถโฆษณาโดยตรงถึงผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาผู้บริโภคใช้ยาเกินความจำเป็น

          รศ.ดร.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ประเด็นคัดค้านต่างๆ ดังกล่าวที่ปรากฏนั้น ภาคประชาชนและเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งที่ 1450/2557 แต่งตั้งคณะทำงานฯ และพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ….(ฉบับแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุข) ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และปรับแก้ตามที่สหสาขาวิชาชีพและภาคประชาชนเสนอมา

           ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นำ (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ….ฉบับแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ตามที่สหสาขาวิชาชีพและภาคประชาชนเสนอมา เป็นร่างหลักเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายทดแทน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ…. ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          โดยกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายใหม่ได้นั้น เครือข่ายภาคประชาน เครือข่ายเภสัชกรภาคอีสานและภาคีวิชาชีพเห็นว่า พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 แก้ไขปรับปรุงฉบับที่ 5/2530 ยังคงใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          จากนั้นผู้ที่เข้าร่วมประชุมต่อต้าน พ.ร.บ.ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แสดงสัญลักษณ์โดยการไขว้แขนเป็นรูปกากบาทเพื่อแสดงจุดยืนต่อไป