ข่าวไอที : ยุค 5 จีประเทศไทย ใครเป็นผู้กำหนด

ยุค 5 จีประเทศไทย ใครเป็นผู้กำหนด

       คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.มีแผนจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเตรียมนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5 จี 

       คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันถูกนำไปใช้กับทีวีดิจิตัล กสทช.จะเรียกคืนเพื่อนำมาประมูล 5 จี โดยจะหาคลื่นใหม่มาให้ทีวีดิจิทัลใช้ และจะมีมาตรการ “เยียวยา” การขาดทุนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยจะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 ไปชดเชยค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่แต่ละรายค้างจ่ายอยู่ประมาณ 30% รวมทั้งค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณภาคพื้นดิน

      ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ยืดอายุทีวีดิจิทัล โดยให้พักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี และให้ กสทช.ช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณภาคพื้นดิน 50%

      คราวนี้ กสทช.จะยกค่าใบอนุญาตที่ค้างอยู่ให้ฟรีๆ โดยเอาเงินจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าประมูลคลื่น 700 มาจ่ายให้ การประมูลคลื่น 700 จึงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นอย่างมาก ต้องการให้เกิดการประมูลโดยเร็วที่สุด

แต่สำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ท่าที ณ ขณะนี้ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญสักเท่าไร บางรายก็ไม่ให้ความสนใจเลย

       ทรู คอร์ปอร์เรชั่น แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่มีแผนในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5 จี 700 เมกะเฮิรตซ์ เพราะทรูมีคลื่นความถี่ในย่านความถี่ต่ำทั้ง 850 และ 900 Mhz เพียงพอที่จะนำมาจัดสรรสำหรับให้บริการ 5 จี

       นอกจากนั้น ทรูยังรอความชัดเจนเรื่องการขยายเวลาชำระค่างวด เงินประมูลคลื่นความถี่ 900 Mhz

       ย้อนกลับไปกลางปีที่แล้ว ตอนที่ กสทช.นำทรูคลื่น 900 และคลื่น 1800 ประมูล ทรูก็ไม่เข้าประมูล โดยอ้างว่า มีภาระค่าใบอนุญาตสูงมากอยู่แล้ว หลังจากข้อต่อรอง ขอยืดเวลาชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 ที่ประมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ออกไป 5 งวด โดยเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติไม่สำเร็จ เพราะ คสช.ไม่กล้าให้ตามที่ทรู (และเอไอเอสขอ)

        ส่วนค่ายมือถืออีกสองค่าย ดีแทค แม้ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนอย่างทรู เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา แต่อเล็กซานดรา ไรซ์ ซีอีโอ ดีแทค เคยให้สัมภาษณ์ว่า การประมูลคลื่น 5 จี ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำก่อน คือ การสร้างระบบนิเวศน์ หรือ อีโค ซิสเต็ม รองรับยุค 5 จีเสียก่อน

       ดีแทคก็เหมือนกับทรู คือ มีคลื่นในย่านความถี่ต่ำที่สามารถทำ 5 จีได้ เอไอเอส ซึ่งยังไม่แสดงท่าทีว่าจะเข้าประมูลหรือไม่ ก็น่าจะมีจุดยืนคล้ายๆ กัน

       ปัญหาการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งเกิดขึ้นกับการประมูลคลื่น 900 กับคลื่น 1800 เมื่อปีที่แล้ว คือ ไม่มีผู้ประมูล หรือประมูลน้อยกว่าจำนวนคลื่นที่มี และอาจจะเกิดกับการประมูลคลื่น 700 ปีนี้ คือ ราคาตั้งต้นสูงเกินไป ผู้เข้าประมูลมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุน เพราะ กสทช.อยากได้เงินเยอะๆ เพื่อนำส่งรัฐบาล ผู้ประกอบการที่มีคลื่นในมือมากพออยู่แล้ว จึงเห็นว่าไม่จำเป็น

       ถ้าทรูไม่เอา และอีกหนึ่งรายจะเป็นดีแทค หรือเอไอเอสไม่เอาด้วย คลื่นก็ขายไม่ออก ทั้งๆ ที่บ้านเราคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรอันมีค่ามีจำกัด แต่เวลาเปิดประมูลกลับไม่มีคนมาประมูล

       การที่คลื่นขายไม่ออก สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่สำคัญ คือ ไม่มีการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมมีผู้ประกอบการเพียง 3 ราย ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการแข่งขันที่มากพอ ผลเสียที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดตอนนี้คือ ถ้าทั้ง 3 ราย หรือรายใดรายหนึ่งไม่เอาด้วย กสทช.ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจาก ทำตามความต้องการของผู้ประกอบการ

      อย่างเช่น การประมูลคลื่น 900 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ตอนแรกดีแทคจะไม่ประมูลจน กสทช.ต้องแก้ไขเกณฑ์การประมูลให้เป็นไปตามที่ดีแทคต้องการ ดีแทคจึงยอมเข้าประมูล

      บทบาทในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของ กสทช.ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นการกำกับดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าการกำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่เพียงพออย่างเป็นธรรม

      ถ้ามีผู้ประกอบการมือถือมากกว่า 3 ราย กสทช.จะไม่มีปัญหาขายคลื่นไม่ได้ ไม่มีคนมาประมูล หรือมีปัญหาน้อยกว่าที่ผ่านมา การมีผู้ประกอบการเพียง 3 ราย โดย เป็นรายใหญ่ 2 ราย ประกอบกับอุตสาหกรรมนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการวิ่งเต้นล็อบบี้หนัก มีผู้มีอำนาจเหนือ กสทช.ด้วย จึงทำให้ผู้กำกับดูแล คือ กสทช.อยู่ใต้อำนาจของผู้ถูกกำกับดูแลตลอดมา เข้าทำนอง ค่ายมือถือกำกับ กสทช. กสทช.ดูแลผลประโยชน์ผู้ประกอบการ

      เทคโนโลยี 5 จี เป็นเทคโนโลยีรองรับโลกดิจิทัล รองรับอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ IoT เป็นการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตและบริการ

      ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ 5 จี หรือมีแต่ไม่เพียงพอ เพราะไม่มีใครประมูลคลื่น การยกระดับอุตสาหกรรม และบริการของไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็ยากจะเป็นไปได้ เพราะไม่มีผู้ให้บริการคลื่นความถี่อย่างเพียงพอ

       คลื่นความถี่ 5 จี จึงไม่ใช่เรื่องของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เป็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยว่า จะก้าวทันโลกหรือไม่ ปัจจุบันเราเอาอนาคตของชาติไปอยู่ในกำมือของผู้ประกอบการมือถือเพียง 3 ราย ถ้าทั้ง 3 รายนี้หรือเพียงรายใดรายหนึ่ง ไม่ยอมประมูล ก็จบ

       ทางออกที่ควรจะเป็นคือ ให้มีผู้ประกอบการรายที่ 4 รายที่ 5 สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี และไม่ควรห้ามต่างชาติเข้าประมูล เพราะมีแต่ต่างชาติเท่านั้น จึงจะมีกำลังความสามารถที่จะลงทุน และประกอบการได้ แม้ว่าจะมาทีหลัง หรือเปิดประมูลเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ 5 จี สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิมเข้าสู่ดิจิทัล อย่างเช่น พื้นที่อีอีซี หรือพื้นที่ที่มีโครงการลงทุนสมาร์ทซิตี้

       พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวในตอนนี้ที่ชูนโยบายเรื่อง 5 จี เพราะมีอดีตกรรมการ กสทช.คือ เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นกรรมการพรรค ที่ผลักดันนโยบายด้านดิจิทัล ซึ่งได้เสนอความคิดว่า จะต้องแก้กติกาการประมูลใหม่ เพื่อไม่ให้ราคาประมูลสูงเกินไปจนเป็นภาระของผู้ประกอบการและอาจเป็นอุปสรรคการลงทุน แต่เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับผู้ประกอบการ 3 รายเดิมเท่านั้น แต่ไม่มีหลักประกันว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค 5 จีอย่างทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ทลายการผูกขาด สร้างการแข่งขัน มีผู้ประกอบการ 3 รายเป็นผู้กำหนดเกมเหมือนเดิม

พรรคไหนจะกล้าเสนอนโยบายเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายที่ 4 ที่เป็นต่างชาติด้วย เข้ามาแข่งขันประมูลคลื่น 5 จี

เชื่อว่า ไม่มีพรรคไหนกล้าพอ

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ โดย  MGR Online