บทความสุขภาพ-ความงาม  :  สธ.เตือนประชาชนระวัง หน้าแล้ง โรคลมแดดมากสุด เด็กจมน้ำ ภาวะเครียด

          วันนี้ (2 มี.ค.59) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการรับมือภัยแล้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ฤดูร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า อุณหภูมิจะสูงสุดในช่วง มี.ค.- เม.ย. ประมาณ 43 – 44 องศาเซลเซียส โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือภัยแล้งรวม 12 จังหวัด 47 อำเภอ 217 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมี 4 แห่ง ประกอบด้วย รพ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รพ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น รพ.พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งประสบกับปัญหาน้ำไม่พอ ส่วน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้เจอภาวะน้ำเค็มด้วย ซึ่งการแก้ปัญหานั้นได้มีส่วนราชการ เช่น ทหาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามาช่วยขนน้ำ และยังมีการขุดบ่อน้ำบาดาลเพิ่มเติม ทั้งนี้ การใช้น้ำของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณการให้บริการ โดยหากเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เช่น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใช้น้ำวันละ 7 แสนลิตร รพ.อำเภอ เช่น สันป่าตอง ใช้วันละ 2 แสนลิตร เป็นต้น

         นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง เก็บกักน้ำสำรอง ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สะอาด ให้สามารถใช้ล้างเครื่องมือแพทย์ได้ และประหยัดน้ำในบางส่วน เช่น ใช้เจลล้างมือแทนน้ำ เป็นต้น ซึ่ง รพ. ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หากต้องการการสนับสนุนสามารถประสานมายังวอร์รูมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของ สธ. ได้ นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานสาธาณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่งสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาในโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานบริการสาธารณะอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน

         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนจะพบโรคติดต่อ 2 กลุ่มโรค คือ 1. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ และ บิด ซึ่งอัตราการป่วยยังไม่ต่างจากช่วงปีที่ผ่านมา แต่ที่ต้องระวังคือ โรคอุจจาระร่วง เพราะหากอุณหภูมิขึ้นสูง 1 องศาเซลเซียส จะมีคนป่วยเพิ่มประมาณ 10% และ 2. โรคพิษสุนัขบ้า แต่ละปีพบน้อยกว่า 10 ราย โดยช่วง ม.ค.- ก.พ. 59 พบเพียง 2 ราย ที่ จ.สมุทรปราการ และ สงขลา ส่วนภัยทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอากาศร้อน คือ ภัยลมแดด ซึ่งแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2557 พบ 28 ราย ปี 2558 พบ 40 ราย ซึ่งปี 2559 คาดว่า จะเกิน 40 ราย กลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้กินยาขับปัสสาวะ แต่กลุ่มนี้มักไม่ค่อยประสบปัญหา กลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดกลับเป็นกลุ่มผู้ชายที่คิดว่าร่างกายแข็งแรง และทำงานกลางแจ้งติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ควรทำงานกลางแจ้งเกิน 1 ชั่วโมง ควรพักประมาณ 15 นาที หากมีอาการหน้ามืดให้พาเข้าที่ร่ม และหากหมดสติ ตัวร้อน แต่เหงื่อไม่ออกให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที และภัยจมน้ำ ปี 2558 พบ 701 ราย โดย มี.ค.- เม.ย. เป็นช่วงหน้าร้อน ทำให้มีเด็กเล่นน้ำมาก หากไม่มีมาตรการที่ดีพออาจทำให้มีปัญหาเด็กจมน้ำมาก

         พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือภัยแล้ง มักกระทบต่อจิตใจ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติ กลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด คือ เกษตรกร เพราะการทำงานเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ซึ่งอาจทำให้ขาดรายได้ เกิดภาวะหนี้สิน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สธ. ได้ส่งเอกสารความรู้วิธีการสังเกตความเครียดผิดปกติ หรือไม่ให้กลุ่มเกษตรกร และมีการจับกลุ่มดูแลกันเองในกลุ่มเกษตรกรช่วงภัยแล้งปีที่ผ่านมา พบว่า การแลกเปลี่ยนความเห็นช่วยได้ผลดี ซึ่งหากมีปัญหาเครียดสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน วิธีผ่อนคลายความเครียดง่าย ๆ เช่น การอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี สวดมนต์ นอนหลับพักผ่อน เป็นต้น

          นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐศิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า อาหารที่เหมาะกับหน้าร้อน คือ พืชผักที่มีรสขม เช่น มะระ ตำลึง ซึ่งช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย เกิดความชุ่มคอ ร่างกายชุ่มชื่น ลดการกระหาย ส่วนเครื่องดื่มอาจใช้ใบเตยผสมน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ ลดการอักเสบในคอ กระตุ้นเกิดภูมิต้านทานในร่างกาย หรือน้ำกระท้อน และน้ำกระเจี๊ยบ ส่วนผลไม้เลือกที่มีน้ำมาก เช่น แตงโม ชมพู่ มะละกอ แก้วมังกร เป็นต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  Manager.co.th