ข่าวแม่สอด : สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ 2 เชื่อมโยงสันติภาพ-เชื่อมไทยเชื่อมโลก

สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ 2 เชื่อมโยงสันติภาพ-เชื่อมไทยเชื่อมโลก

สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ 2 เชื่อมโยงสันติภาพ-เชื่อมไทยเชื่อมโลก สู่มิตรภาพที่ดี

       นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ริเริ่มผลักดันและประสานงานการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 ระหว่าง ปี พ.ศ 2532 – 2540 กล่าวถึงความเป็นมาและบันทึกถึงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งนี้ เราสร้างสะพานแห่งนี้เพื่อส่งเสริมมิตรภาพอันดีระหว่างชาวไทยและชาวเมียนมาร์

      นายอุดร ตันติสุนทร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก หลายสมัย-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก กล่าวถึงบันทึกประวัติศาสตร์สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ว่าเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ในช่วงที่ตนเองได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก ครั้งแรก จากนั้นอีก 3 เดือน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เชิญให้ไปศึกษาดูงาน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ไปดูงานขององค์กรสหประชาชาติ UN ที่กรุงนิวยอร์ก จึงทราบว่า UN มี นโยบายเพื่อ ไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นอีก จึงมีนโยบายที่ขอให้ประเทศต่างๆ ในโลก รักษาสันติภาพของโลกไว้เพื่อให้เกิดสันติภาพและมิตรภาพตลอดไป จึงขอให้ประเทศต่างๆทำถนนเชื่อมโยงกันทั่วโลกโดยแบ่งเป็นภาคๆ และในทวีปเอเชีย นั้นมีถนน ASIAN HIGHWAY (เอเชียไฮเวย์) โดยเริ่มจากประเทศอิหร่าน-ปากีสถาน -อินเดีย-บังคลาเทศ- เมียนมา -ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งถนนสายนี้มีความยาว 18,0125 กิโลเมตร เมื่อได้นำแผนที่มาศึกษาก็พบว่า จากประเทศไทยสู่เมียนมาร์ มีแม่น้ำเมยขวางกั้นอยู่ ตนเองจึงเสนอให้รัฐบาลไทย สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แต่ก็มีอุปสรรคเพราะมีการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านตรงข้าม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไร และเมื่อได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2532 ได้เสนอโครงการ เพื่อก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งนี้ต่อรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้

        อนุมัติให้สร้าง ได้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 แต่ก็เกิดอุปสรรค มีการปฏิวัติ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ( รสช.)ในปี 2534 แต่ตนเองก็สานงานต่อในปี 2535 ก็ได้เป็น สส.จังหวัดตาก อีกครั้ง และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้สานต่อจนสามารถสร้างสะพานแห่งนี้ จนสำเร็จและทำพิธีเปิดใช้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ซึ่งปัจจุบัน ทำให้การค้าชายแดนมีการพัฒนาก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด โดยจะเห็นได้เลยว่าในช่วงที่ยังไม่มีสะพาน การค้าชายแดนด่านแม่สอด-เมียวดี ประมาณเดือนละ 20-30 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเมื่อมีการใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 การค้าเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 7,000 ถึง 8,000 ล้านบาท และเริ่มมากขึ้น และต่อมาในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีก็ได้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย (ตองยิ่น) แห่งที่ 2 และวันนี้การเดินทางและขนส่งสินค้าจากสะพานแห่งนี้ด้านตะวันออก สามารถไปถึงเมืองดานัง ของเวียดนามและด้านตะวันตกสามารถไปถึงกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) แล้ว

….จากปี 2560 สู่ 20 ปี สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 และ…จาก 2540-2562 วันนี้ 22 ปีแล้ว

       นายอุดร ตันติสุนทร ได้ปรารภ อีกว่า ในปี 2562 เป็นระยะเวลา 22 ปี ผมมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างสันติภาพ ให้มั่นคงนั้นจะต้องสร้างมิตรภาพขึ้นก่อน และการสร้างมิตรภาพได้นั้นจะต้องสร้างถนนหรือเส้นทางเชื่อมโยงกันทุกประเทศ เพื่อการเดินทางไปมาหาสู่กันจะได้สะดวกสบายและองค์กรสหประชาชาติ(UN)ก็ได้มีนโยบายชัดเจนอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆในโลกสร้างเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันได้ ถนนเอเชียไฮเวย์ก็เป็นหนึ่ง ส่วนของ UN ในการสร้างมิตรภาพทางถนน นับแต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ไทย-พม่า เป็นต้นมา ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 จนถึงปี 2562 นับเป็นเวลา 22 ปี วันนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้จังหวัดตากเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อันดับ 1 ของประเทศ และ ESCAP ก็ได้สนับสนุน ให้เกิด East West Economic corridor -EWEC หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก โดยการเชื่อมโยง ประเทศเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า และขับต่อไปยังบังคลาเทศ-อินเดีย ตะวันออกกลาง จนถึงยุโรป ในระยะเวลาหรือ อนาคตอันใกล้นี้ และยังต้องเกิด North South Economic corridor เชื่อมโยงจีน-ไทย-พม่า มาเลเซียไปถึงสิงคโปร์ อีกด้วย เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเรามีเศรษฐกิจที่ดี และประเทศเราก็มีเศรษฐกิจที่ดีและมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันและในที่สุดสันติภาพ มิตรภาพที่จะยั่งยืน ก็เกิดขึ้น ตลอดไป”….

     ล่าสุด นายอุดร ตันติสุนทร ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และล่าสุด ทราบข่าวดีว่าอาจจะมีการเปิดสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่าคงเป็นอย่างนั้น ไทย-พม่า จะสร้างและสานสัมพันธ์ มิตรภาพด้วยการข้ามแม่น้ำเมย(ตองยื่น) ที่ สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 เพื่อมิตรภาพ -สันติภาพ-และสัมพันธภาพ ระหว่างประเทศที่ดีตลอดไป…

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก AEC อาเซียน NEWS