ข่าวทั่วไป : เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทำไมไม่รู้สึก? “รวยจนเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก” คือเศรษฐกิจดี?

เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทำไมไม่รู้สึก? “รวยจนเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก” คือเศรษฐกิจดี?

     รัฐบาลชุดปัจจุบันออกมากล่าวว่า “เศรษฐกิจไทย” กำลังดีขึ้น ให้ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเราได้ชื่นใจ แต่ก็ค่อนข้างจะไม่รู้สึกกันสักเท่าไหร่ หลายคนเก็บความรู้สึกไว้ในใจ จนเมื่อมีการนำรายงานขององค์กร Credit Suisse ถึงสถานการณ์ความมั่งคั่งทั่วโลก  หรือ  Global Wealth Report ประจำปี 2018 มากล่าวถึงกันในวงกว้างถึง “สภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” โดยประเมินจากการถือครองทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ

      ซึ่งน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ผลการสำรวจนั้นออกมาสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้า ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นดีขึ้น แต่เป็นเฉพาะกับคนรวยเท่านั้น ! เพราะ  สำหรับเมืองไทยเรานี้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ   แซงหน้า  ตุรกี  รัสเซีย  และอินเดียไปค่อนข้างจะขาดลอย   หลังจากที่ในการสำรวจครั้งก่อนนั้น ไทยเราอยู่อันดับที่สาม (ซึ่งก็ไม่น่าภาคภูมิใจสักเท่าไหร่) อันเป็นเหตุให้สรุปได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยเรานั้น คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ขึ้นไปทุกวัน !

“เหลื่อมล้ำ” อย่างไร  และสะท้อนอะไรให้บ้านเราบ้าง ?

      ถ้าหากจะอธิบายผลการสำรวจอย่างง่ายๆ นั้น ก็ต้องบอกว่าผลสำรวจนี้ยึดตามรูปแบบการถือครองทรัพย์สินของประชากร สิ่งที่ Global Wealth Report ประจำปี 2018 นำเสนอเกี่ยวกับประเทศไทยค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว เพราะเมื่อนำทรัพย์สินของประชากรทั้งประเทศมากองรวมกันแล้ว พบว่าทรัพย์สินกว่าร้อยละ 66.9 นั้น เป็นของเหล่าเศรษฐีที่คิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1 % ของประเทศเท่านั้น !! 

      นั่นหมายความว่า ประชากรไทยอีก99 % เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียงร้อยละ 33.1 ที่เหลือ  เรียกได้ว่าทรัพย์สินของประชากรรวมกันทั้งประเทศ  69.11  ล้านคน  ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทย  ที่มีจำนวนเพียง46,000 คน  ซึ่งพุ่งขึ้นยิ่งกว่าการสำรวจเมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) ที่ผ่านมา ซึ่งมหาเศรษฐีเหล่านี้ถือครองทรัพย์สินรวมไว้ร้อยละ 58 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 % ภายในสองปี !!!

      ทั้งยังมีแนวโน้มความรวยนั้นก็จะยิ่งรวยยิ่งขึ้น และความจนนั้นก็จะยิ่งจนเข้าไปใหญ่แน่นอน เพราะวัดกันด้วยพื้นฐานของการทำมาหากินของเกษตรกรนั่นก็คือ “ที่ดิน” พบว่า การถือครองที่ดินนั้น (นับเฉพาะที่ถือครองได้ ไม่นับเขตป่าสงวน ที่ดินของหลวง เป็นต้น) สัดส่วนที่ดินกว่าร้อยละ 80 เป็นของประชากรเพียง 20% ของประเทศ นั่นหมายความว่า ที่ดินอีกร้อยละ 20 นั้น เป็นของประชากรที่เหลือกว่า 80 % ซึ่งชาวนาชาวไร่ ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางต่างมารวมตัวกันอยู่ในจุดนี้ แล้วถ้าเทียบความเป็นจริง เอาง่าย ๆ แค่ตัดชนชั้นกลางที่ครองที่ดินในฐานะบ้านจัดสรรออกไปล่ะ ยังจะเหลือที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกรและชนชั้นแรงงานเท่าไหร่

      และความจริงที่น่าหดหู่ใจที่สุด คือ ภาพเศรษฐกิจที่ผู้กำหนดระบบเป็นนายทุนและมหาเศรษฐี การเกิดขึ้นของหนี้นอกระบบ บีบบังคับให้พวกเขาเหล่านี้ต้องขายที่ดินไปอีกเท่าไหร่ จะสู้ต่อไปได้นานแค่ไหนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนการเกษตรต่าง ๆ ที่ดีดตัวพร้อม ๆ กับการกดราคาของนายทุน และลงเอยด้วยการที่พวกเขาต้องขายที่ทำกิน เข้าสู่ระบบการเช่าที่นาทำกินไปวัน ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า แทบจะไม่มีทางลืมตาอ้าปากต่อไปได้เลย

ข้อมูลที่นำเสนอว่าไทยเรานั้นเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก   เชื่อได้จริงหรือ ?

         ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการหลายท่านออกมาโต้แย้งถึงการใช้ข้อมูลในการประเมินผลของ Credit Suisse ว่าเป็นมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ตามมาด้วยการที่  รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสภาพัฒน์  ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่กล่าวไว้ แถมยังดีขึ้นเสียด้วย

      คำถามต่อมาคือ การออกมาชี้แจงจากทางฝั่งรัฐบาลนั้น แสดงให้เห็นว่าไทยเราไม่ได้มีสภาพเศรษฐกิจแย่ขนาดนั้นจริงหรือ คำตอบก็คือการชี้แจงของรัฐบาลและสภาพัฒน์นั้น สมควรที่จะ “ไม่นับแต้ม” ในการแย้งครั้งนี้ เพราะใช้ตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน !

 เพราะ  สิ่งที่สภาพัฒน์นำมาชี้แจงนั้น  คือ “รายได้” ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับ“ทรัพย์สิน” เสียด้วยซ้ำ 

      พูดง่าย ๆ นั่นคือ รายได้ คือ จำนวนเงินในระบบที่ประชาชนนำออกมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทรัพย์สินนั้น เป็นเงินที่อยู่ในคลังของประชาชน เป็นมูลค่าการถือครองที่มีค่าความต่างมากกว่ารายได้มากนัก

     ง่ายที่สุด นึกถึงเวลาเราเอาเงินไปฝากธนาคาร เงินที่เราฝากนั้นคือ ทรัพย์สิน ในขณะที่ ดอกเบี้ย / ปันผลจากกองทุนนั้นคือ รายได้ ดังนั้น รายได้ไม่มีทางเทียบเท่าแล้วชี้ชัดให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินแน่นอน !!

     ส่วนการใช้ข้อมูลของ Credit Suisse นั้น ถึงแม้จะเป็นข้อมูลเก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในครั้งนี้เชื่อถือไม่ได้เสียทีเดียว และแท้จริงแล้วตัวเลขนี้อาจจะให้ภาพความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่ดีเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากรายงานนี้ใช้ข้อมูลการกระจายรายได้จากข้อมูลสำรวจครัวเรือน เพื่อทำให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเหล่าเศรษฐีให้มากที่สุด ทำให้ภาพรวมการใช้ข้อมูลในครั้งนี้ ใช้คาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เลยเสียทีเดียว

      ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าตัวเลขของการวิจัยจากสำนักไหน ก็ตรงกันกับความรู้สึกของคนไทยที่ว่าประชากรประเทศเรานั้น รวยแล้วก็รวยอีก   จนแล้วก็จนอีก  อยู่ร่ำไป !

ข้อมูลจาก Another View , Line Today