บทความสุขภาพ  :  โรคฉี่หนูไม่ได้มากับกระป๋องน้ำอัดลม แต่มาพร้อมน้ำท่วม

         หลายปีก่อนเคยมีข่าวแพร่สะพัดเป็นจดหมายลูกโซ่ส่งต่อกันทางอินเทอร์เน็ตแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งในเมืองไทย และยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ ว่ามีคนดื่มน้ำอัดลมจากกระป๋อง โดยไม่ได้เช็ดหรือล้างก่อน จึงติดเชื้อโรคฉี่หนูที่เปื้อนกระป๋องจนป่วยหนักและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนหลายคนกลัวฉี่หนูบนกระป๋องน้ำอัดลมกันอย่างจริงๆ จังๆ

         ผู้ที่ทำงานในวงการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ข่าวสาร ได้วิเคราะห์และตีแผ่ฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ไม่เป็นความจริงหลายๆ ชิ้น รวมทั้งฉี่หนูมรณะที่ว่านี้ด้วย โดยระบุว่าอาการของโรคฉี่หนูที่แท้จริงจะต่างจากอาการในฟอร์เวิร์ดเมล์ และฉี่หนูไม่ได้ติดกันง่ายๆ จากการดื่มกิน ยกเว้นว่ามีแผลในปาก แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก

         แม้แต่รายการดังอย่าง Myth Busters ก็ได้ทำการทดลองเรื่องนี้และสอบถามจากแพทย์ว่าเราสามารถเสียชีวิตจากการดื่มน้ำอัดลมจากกระป๋องที่เปื้อนฉี่หนูได้จริงหรือไม่ ซึ่งแพทย์ก็ระบุตรงกันว่า โอกาสที่จะติดเชื้อโรคฉี่หนูจากกระป๋องน้ำอัดลมมีน้อยมาก และเชื้อโรคฉี่หนูนั้นจะตายอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในที่แห้ง นั่นหมายถึง แม้จะมีเชื้อโรคฉี่หนูอยู่บนกระป๋องน้ำอัดลมจริงๆ มันก็น่าจะตายไปก่อนที่จะมีใครมาดื่ม และถึงแม้ว่าเราจะเผลอกินเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตเข้าไปจริงๆ เชื้อโรคก็จะตายด้วยกรดในกระเพาะอาหารของเรา

         อย่างไรก็ตาม คุณหมอให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้าคิดจะดื่มน้ำอัดลมจากกระป๋อง ก็ควรจะเช็ดหรือล้างให้สะอาดเสียก่อน เพราะนอกจากฉี่หนูแล้ว เราไม่รู้ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง

         มาจนถึงวันนี้ วันที่หลายจังหวัดในประเทศไทยต้องประสบอุทกภัย น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ เราจะเห็นภาพคนที่เดินลุยย่ำน้ำ ทั้งที่จำใจต้องลุยและที่ลุยถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก รวมทั้งเด็กๆ ที่เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน โดยลืมนึกถึงโรคร้ายหลายชนิด โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ทั้งๆ ที่การติดเชื้อโรคฉี่หนูจากน้ำท่วมนั้น ง่ายกว่าฉี่หนูจากกระป๋องน้ำอัดลมเสียอีก

         โรคฉี่หนูในประเทศไทยพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่น้ำฝนชะล้างเอาเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม มารวมกันอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง

         โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคระบาดในคนโดยติดต่อมาจากสัตว์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira ) เป็นเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะซึ่งไม่ใช่แค่หนูเท่านั้น แต่ยังรวมถึง วัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่างสุนัขและแมว

         การเล่นน้ำ ลุยน้ำ หรือแช่น้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานๆ ทำให้ติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ โดยเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในน้ำหรือดินที่ชื้นแฉะ และเข้าสู่ร่างกายของเราทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือทางเยื่อเมือก เช่น ตาและปาก

         อาการของผู้ที่ติดเชื้อโรคฉี่หนู จะมี 2 แบบ คือ แบบที่ไม่รุนแรง จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และแบบที่มีอาการรุนแรง หากเชื้อเข้าไปอยู่ในลูกตา จะทำให้มีอาการตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ หากเชื้อเข้าไปอยู่ในท่อไต จะทำให้ไตวาย หากเชื้อเข้าไปอยู่ในสมอง จะทำให้มีอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และหากมีการติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้มีเลือดออกในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

         โรคฉี่หนูมีการระบาด และมีรายงานการเสียชีวิตทุกปี สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากทุกปี อาจเนื่องมาจากอาการของโรคในเบื้องต้นคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจหรือแม้แต่แพทย์ก็วินิจฉัยโรคได้ค่อนข้างยาก

         ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่อง ขา เอว หลัง หรือมีอาการตาแดง และเป็นกลุ่มเสี่ยง คืออยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เล่นน้ำ หรือย่ำน้ำในช่วงนี้ ไม่ควรชะล่าใจ ให้แจ้งข้อมูลกับแพทย์ด้วย เพื่อการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

         นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำ แช่หรือลุยน้ำที่ท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมรองเท้าบูทยาง หากระดับน้ำท่วมสูงเกินกว่าบูทยาง อาจสวมถุงดำไว้ข้างใน มัดด้วยเชือกฟางให้แนบติดกับขา แล้วสวมรองเท้าทับอีกชั้น สวมถุงมือยางหากต้องสัมผัสกับน้ำ และล้างมือ ล้างเท้า และอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000133963