บทความสุขภาพ  :  โรคไข้หวัด-ยาพาราเซตามอล-วิตามินซี  การดูแลสุขภาพ

         นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ อธิบายว่า หวัดไม่ได้เกิดจากฝน แต่เกิดจากการที่ร่างกายของเราเปียกฝน โดยเฉพาะที่ศีรษะ จะทำให้อุณหภูมิที่เยื่อบุจมูกลดต่ำลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้เหมาะสำหรับการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสที่ตกค้างอยู่ในช่องจมูก

         ประกอบกับก่อนฝนตกมักจะมีลมแรง ลมจะพัดให้ไวรัสในสภาพแวดล้อมฟุ้งกระจายไปทั่ว หากเราอยู่ในบริเวณนั้น ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อไวรัสที่มากับลมฝน ทำให้มีไวรัสจำนวนมากบริเวณเยื่อบุจมูก

         เมื่อเชื้อโรคมีปริมาณมาก ภูมิต้านทานของร่างกายไม่อาจต้านทานได้ จึงเกิดการอักเสบบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้เกิดอาการคัดจมูก ร่างกายจะผลิตน้ำมูกขึ้นมาเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หากเชื้อโรคบุกไปได้ถึงลำคอ ก็จะทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ คออักเสบได้

         นอกจากนี้ อุณหภูมิบริเวณมือและเท้า ก็มีผลด้วยเช่นเดียวกัน หากเท้าของเราเปียกน้ำ หรือต้องแช่อยู่ในน้ำนานๆ ก็มีผลให้อุณหภูมิที่เยื่อบุจมูกลดลง และทำให้เป็นหวัดได้เช่นกัน

         ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัด ก่อนฝนตกพยายามอย่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกไว้ เมื่อฝนตกก็ควรกางร่มหรือหาที่หลบฝน

         หากเปียกฝน ควรอาบน้ำสระผมด้วยน้ำอุ่น แล้วเช็ดหรือเป่าผมให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นหรือห่มผ้า หรืออาจแช่เท้าในน้ำอุ่น อย่านอนทั้งๆ ที่ผมยังไม่แห้ง เพราะนอกจากความเปียกชื้นจะทำให้เป็นหวัดได้แล้ว ยังทำให้เกิดเชื้อราได้อีกด้วย

         หากไม่สะดวกที่จะอาบน้ำ ต้องรีบเช็ดตัวให้แห้ง ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่เสื้อผ้าที่แห้งและอบอุ่น ถอดถุงเท้ารองเท้า อย่าปล่อยให้เท้าเปียกชื้น เพราะอาจทำให้เป็นหวัดและเกิดเชื้อราได้เช่นกัน หากต้องเดินลุยน้ำท่วมน้ำขัง ควรล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วทาแป้งฝุ่นทับ จะช่วยให้เท้าสะอาด แห้งสบายขึ้น

         ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น น้ำขิงสักแก้ว และปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม เนื่องจากอากาศมีความชื้นและเย็นมากอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หลักการก็คือทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เพื่อไม่ให้ไวรัสแบ่งตัวแพร่กระจายได้

         หลายคนเมื่อเปียกฝนมา จะใช้วิธี “กินยากันไว้ก่อน” ส่วนใหญ่ก็คือยาพาราเซตามอล โดยหวังว่ายาจะช่วยป้องกันโรคหวัดได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว พาราเซตามอล คือ ยาแก้ปวด ลดไข้ จึงไม่ได้ช่วยป้องกันหวัดแต่อย่างใด และไม่มีความจำเป็นต้องกินล่วงหน้า  และถึงแม้จะป่วยเป็นหวัดขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่มียาอะไรที่จะรักษาโรคหวัดได้ เนื่องจากหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยังไม่มียาใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสได้ ยาที่ใช้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้อักเสบ

         ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ก็คือ ไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด และไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน มิฉะนั้น อาจเกิดผลข้างเคียงต่อตับได้ ส่วนยาลดน้ำมูกบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม หากต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ควรระมัดระวังให้มาก  เมื่อเป็นหวัด สิ่งสำคัญคือ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ นอนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น จะช่วยให้อาการทุเลาขึ้นอย่างรวดเร็ว

         นอกจากการกินยากันไว้ก่อน บางคนยังใช้วิธีกินวิตามินซีเมื่อเป็นหวัด จริงอยู่ว่าสรรพคุณหนึ่งของวิตามินซีก็คือช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล แต่การปล่อยให้ป่วยเสียก่อนค่อยมากินวิตามินซี ดูจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

         เราควรจะรับประทานวิตามินซีให้เป็นปกตินิสัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายๆ อาหารที่มีวิตามินซีสูง ก็คือ ผักสด เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ พริกทุกชนิด ผักกาดและผักใบเขียวทั้งหลาย ผลไม้สด เช่น ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ ลำไย ลิ้นจี่ พุทรา มะกอก เงาะ แคนตาลูป ส้ม แอปเปิล มะเขือเทศ สับปะรด

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000088628