บทความสุขภาพ-ความงาม  :  4 สารที่ควรระวัง จากผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิว ร่างกาย

         4 สารที่ควรเฝ้าระวัง และอาจก่อให้เกิดอันตราย หากใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559) ได้แก่

1.Parabens สารกลุ่มพาราเบน

         เป็นสารกันเสีย (Preservative) ที่ราคาไม่แพงและที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อใส่ในปริมาณที่กำหนด มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เครื่องสำอางเสียง่าย  เคยมีรายงานผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม และตรวจพบพาราเบนในเซลล์มะเร็ง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพาราเบนจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ ซึ่งในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขยังรับรองให้ใช้สารในกลุ่มพาราเบนได้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่ถึงแม้ว่ายังมีรายงานที่ขัดแย้งกัน การใช้เครื่องสำอางที่มีพาราเบน ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อผู้ใช้เกิดผื่นแพ้ ควรหยุดการใช้เครื่องสำอางนั้นๆ ทันที และสังเกตว่าผื่นค่อยๆ หายไปหรือไม่  สารดังกล่าวพบมากในผลิตภัณฑ์ เช่น  แชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ โฟมล้างมือ ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมโกนหนวด ครีมสำหรับเล็บ น้ำยาดัดผมถาวร

2.Triclosan ไตรโครซาน

         สารดังกล่าว มีสรรพคุณช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากใช้ปริมาณที่เกินกำหนดจะทำให้เกิดพิษ เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ มีผลกับการทำงานของหัวใจ และหากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโครซานเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา  ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA มีคำสั่งห้ามใช้สารไตรโครซานในผลิตภัณฑ์สบู่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือ Antibiotics รวมทั้งส่วนผสมต่างๆ อีก 18 ชนิดที่มักจะถูกใช้ในสบู่ประเภทต้านเชื้อแบคทีเรียโดย FDA ให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าสบู่ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ มีประสิทธิภาพดีกว่าสบู่ธรรมดาหรือน้ำเปล่า ซึ่งคำสั่งห้ามดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทั่วอเมริกาในเดือนกันยายน 2560 นี้ สารดังกล่าวพบมากในผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์โรลออนระงับกลิ่นกาย สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เครื่องสำอาง

3.Methylisothiazolinone เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน หรือ MIT

         เป็นสารกันเสีย (Preservative) ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ และอาจทำให้เกิดการระคายเคือง แพ้ได้ง่าย ซึ่งในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขจะควบคุมให้ใช้ MIT ในความเข้มข้นที่กำหนด และให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น  สารดังกล่าวพบมากในผลิตภัณฑ์ เช่น  แชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมอาบน้ำ เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก

4.Sodium Lauryl Sulfate โซเดียมลอริลซัลเฟต หรือ SLS

         เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรกและคราบไขมันหลุดออกได้ง่าย แต่จากการวิจัยพบว่าหากความเข้มข้นของสารที่ใส่ในผลิตภัณฑ์มีปริมาณมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่สัมผัส โดยการระคายเคืองจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้นด้วย  ทั้งนี้ยังมีรายงานในสัตว์ทดลองพบว่าความเข้มข้นของสาร SLS ในปริมาณที่สูง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดสิว และถ้าล้างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร SLS ออกช้าหรือไม่ล้างออก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา  ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ สรุปชัดเจนเรื่อง สาร SLS และความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในคน และประเทศไทยยังคงให้ใช้สาร SLS เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ได้ โดยต้องมีความเข้มข้นที่ใช้ได้ปลอดภัยในปริมาณที่กำหนด แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้สาร SLS หรืออยากหลีกเลี่ยงสาร SLS ในเครื่องสำอาง สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “ Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้  สารดังกล่าวพบมากในผลิตภัณฑ์ เช่น  สบู่ แชมพู ครีมล้างหน้า และยาสีฟัน

         ทั้งนี้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมีออกมาวางจำหน่ายจำนวนมาก หากผู้ใดแพ้หรืออยากหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด หรือจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง

ข้อมูลประกอบและเอกสารอ้างอิง

-www.thairath.co.th
-สารเคมีในชีวิตประจำวัน สารกันเสีย: https://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d003.htm
-ความปลอดภัยของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง ศูนย์วิทยบริการ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา https://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp
-ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559
-https://mgronline.com/GoodHealth/detail/9600000088199