ข่าวไอที : 5G จะทำให้มีงานทำแต่ไม่มีที่ทำงาน

5G จะทำให้มีงานทำแต่ไม่มีที่ทำงาน

       เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ : จากผลการศึกษาวิจัยของ Johnson Controls ในหัวข้อ Smart Workplace 2040: The Rise of the Workspace Consumer พบว่า ภายในปี 2040 บ้านหรือที่พักอาศัยจะกลายเป็นสถานที่ในการเรียน และการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) จะทำให้มวลมนุษยชาติทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดและเวลาใดก็ตาม เนื่องจากการทำลายกำแพงของเวลา และช่องว่างระหว่างกัน ด้วยการเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลก จะทำให้ระยะทางและเวลาไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป

       คนรุ่นใหม่ในยุค Gen Z และ Gen Alpha ถือได้ว่าเกิดมาพร้อมกับที่อินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย และเข้าถึงผู้คนทั่วโลก จนทำให้พวกเขาได้ใช้ความเชื่อมโยงของข้อมูลและของผู้คนทั่วโลกในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยมีในคนยุค Gen X และ Babyboomers เลย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ผู้คนทั้งหลายในอนาคตอันใกล้ในไม่กี่ปีนี้ จะได้ใช้บริการที่แปลกใหม่จากบริษัทใหม่ๆ ที่มีจำนวนคนทำงานน้อยมาก และขนาดของบริษัทจะมีพื้นที่ที่เล็กมากจนแทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบริษัททางกายภาพในยุค 5G ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์, องค์กรดิจิทัล, และแอปพลิเคชัน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันเองของผู้ใช้ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

       ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้บ้านหรือสถานที่พักผ่อน และบันเทิงต่างๆ กลายเป็นสถานที่ในการเรียน และการทำงานมากขึ้น เพราะเทคโนโลยี Mobile Internet, AI, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) จะทำให้มวลมนุษยชาติสามารถเรียนรู้ ทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และเวลาใดก็ตาม จึงทำให้เกิดการจ้างงานแบบทำงานที่ใดก็ได้ ด้วยเวลาที่ยืดหยุ่น และกำลังจะทำให้การจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปที่นายจ้าง หรือบริษัท จะต้องคำนึงถึงความสุขของลูกจ้างมากขึ้น

       การที่ผู้ว่าจ้างหรือบริษัทที่จะต้องให้ความสำคัญแก่ลูกจ้างมากขึ้น ก็เนื่องจากว่า ทักษะงานแห่งอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป ซึ่งบางทักษะนั้นหายากอย่างยิ่ง จึงทำให้การจ้างงานมีความจำเป็นต้องจ้างเฉพาะเวลา หรือในรูปแบบของฟรีแลนซ์ (freelance) มากขึ้น และให้ความเป็นอิสระของลูกจ้างมากขึ้น อีกทั้งการรับงานเป็นโครงการ (project) ด้วยความเป็นอิสระ จะทำให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ

       Gen Alpha และ Gen Z กำลังเติบโตมากับระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) ซึ่งถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ (New economy) ที่กำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ในระดับฐานรากเป็นจำนวนมากในรูปแบบงานอิสระ และจะสร้างธุรกิจมูลค่าใหม่อันมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ ซึ่งระบบเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวเกิดจากที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลอันมหาศาลแบบ Realtime และเชื่อมต่อกับธุรกิจต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกด้วยสมาร์ทโฟน จนทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกมากขึ้น เพราะพวกเขาสามารถเลือกงานอิสระ รวมไปถึงการตั้งบริษัทเล็กๆ ที่ลงทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพด้วยตัวพวกเขาเอง

       การเริ่มต้นของ 5G ทำให้เกิดการพลิกผันในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารอย่างมาก ซึ่งมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังเผชิญกับบริษัทที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เช่น Google, Facebook, Amazon และ LINE ที่กำลังคิดหาวิธีการในการชำระเงินและอื่นๆ บนสมาร์ทโฟนที่มีระบบเซ็นเซอร์ IoT โดยผ่านกระบวนการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของพวกเขาเองโดยตรง พร้อมกับการสร้างบริษัทบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ และผลิตตำแหน่งงานที่แปลกใหม่อย่างมากมาย

       มีการคาดการณ์จาก GlobalData ว่า ภายในปี 2020 ลูกจ้างมากกว่าครึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำงานโดยไม่ต้องอยู่ที่ทำงาน ซึ่งจะยิ่งทำให้การวางโครงข่าย 5G ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความสำคัญกับลูกจ้างในอนาคตเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศสหรัฐฯ ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 5G ไปเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้การทำงานไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ และเวลา เกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2020

      ปรากฏการณ์ที่เราจะได้เห็นในปี 2019 ก็คือ การเริ่มวางโครงข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้การทำงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการทำงานผ่านระบบคลาวด์ (cloud) และบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต 5G ซึ่งจะทำให้ทีมในบริษัทสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ และเวลาอีกต่อไป โดยบริษัทที่มีวัฒนธรรมรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถยอมรับการทำงานรูปแบบใหม่ได้ ก็จะมีความเสื่อมสภาพลง และจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรุ่นใหม่ จนจะทำให้องค์กรรูปแบบดั้งเดิมหลายองค์กรไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะในงานใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการที่องค์กรไม่สามารถปรับไปสู่ความยืดหยุ่น และไม่สามารถลดต้นทุน เพื่อที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อีกต่อไป

       จากการศึกษาของ Deloitte พบว่า ในคนรุ่นใหม่ การสร้างสมดุลระหว่างงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวนั้น มีความสำคัญที่สุดในการเลือกตำแหน่งงานของพวกเขา และในยุคของคนรุ่นใหม่ต่อจากนี้ไป เราจะพบว่า พวกเขามีความจงรักภักดีต่อองค์กรน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น องค์กรที่จะเก็บพวกเขาไว้ได้ จะต้องคำนึงถึงสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเป็นสำคัญ

      ลูกจ้างที่เป็นคนรุ่นใหม่จะปฏิเสธการเข้าทำงานกับองค์กรรูปแบบดั้งเดิม ที่ไม่สามารถยอมรับการทำงาน ที่อิสระจากสถานที่และเวลาได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พวกเขาได้เติบโตมาจากการร่วมมือทำงานกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เกิด จึงทำให้องค์กรทุกองค์กรจะต้องปรับตัว และจะต้องยอมรับการผสมผสานกับลูกจ้างที่มีหลายเจนเนอเรชันอย่างกลมกลืน

      ความคุ้นเคยในอดีตที่ผ่านมา เราได้พบกับการให้บริการในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมตั้งแต่ 1G ถึง 4G มาแล้วนั้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม มนุษย์นั้นกำลังจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยรวดเร็วและพลิกผันอย่างที่กำลังเกิดขึ้นมาก่อนในเทคโนโลยี 5G ทั้งนี้ เพราะเทคโนโลยี 5G มีความแตกต่างจากเทคโนโลยี 4G เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับการที่มนุษย์ยังไม่เคยมีเครื่องบินมาก่อน แต่เพียงข้ามคืนมนุษย์ทุกคนสามารถขึ้นเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศได้ทันที

       ดังนั้น วิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำของผู้บริหารระดับสูงในยุคต่อไปจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และจะทำให้นิยามของคำว่า “ความเป็นผู้นำ” หรือ “leadership” โดยคุณลักษณะของความเป็นผู้นำสำหรับโลกอนาคต คือ ความสามารถในการเชื่อมโยงผู้คน ทำให้พวกเขาได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคม และสร้างแรงบันดาลใจร่วมกันโดยไม่ยึดติดกับสถานที่ และเวลา อย่างไรก็ตาม หากผู้นำและผู้บริหารยังยึดติดอยู่กับการสื่อสารแบบ face-to-face และการร่วมมือกันที่จะต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ และเวลา ก็จะทำให้องค์กรไม่สามารถยืนอยู่ได้ในโลกแห่งการแข่งขันที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปในยุค 5G

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online