ข่าวทั่วไป : ลูกจ้างเฮ พ.ร.บ.เงินทดแทนใหม่ เพิ่มสิทธิเพียบ ทุพพลภาพรับ 70% ของเงินเดือนตลอดชีวิต
“รองเลขาฯ สปส.” แจง กองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จัดหนัก จ่ายแทนลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงานจนสิ้นสุดการรักษา ออฟฟิศซินโดรมก็ใช้สิทธิ์ได้ ยืนตัวเลขเงินทดแทน 70% ของค่าจ้าง-เงินเดือน ทุกกรณี หยุดงานรับตามวันที่หยุด ทุพพลภาพรับทุกเดือนตลอดชีวิต แม้กลับไปทำงานมีเงินเดือนใหม่ ก็ยังได้ส่วนนี้อยู่ หากเสียชีวิตทายาทรับเงินเดือน 70% นาน 10 ปี และค่าทำศพอีก 4 หมื่น พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ประกันตนแจ้งเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ภายใน 31 มี.ค.นี้
กล่าวได้ว่าคนทำงานในทุกสาขาอาชีพถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การดูแลสวัสดิภาพของพนักงานในยามเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นคงในชีวิตให้แก่มนุษย์เงินเดือน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลหลักประกันการทำงานให้แก่แรงงาน จึงได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ หรือชื่อเต็มว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง
นางสาวอำพัน ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากการแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการนำเงินซึ่งนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ส่งเข้ากองทุนเงินทดแทนมาใช้สร้างหลักประกันด้านสวัสดิภาพให้แก่ลูกจ้างนั้น ส่งผลให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย พ.ร.บ.เงินทดแทนใหม่ ได้เพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นให้จนถึงสิ้นสุดการรักษา
กรณีต้องหยุดงานจะได้ค่าชดเชยเพิ่มจากเดิม 60% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่เจ็บป่วย จากเดิมที่จ่ายหลังจากหยุดงาน 3 วัน
ยกตัวอย่าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท แพทย์ออกใบรับรองให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน
วิธีคำนวณคือ
10,000 x 70% = 7,000 บาท
เท่ากับได้ค่าชดเชยวันละ = 7,000 บาท หารด้วย 30 วัน = 233 บาท
ลูกจ้างหยุดงาน 10 วัน เงินทดแทนที่ได้รับ = 233 x 10 = 2,333บาท
กรณีทุพพลภาพกองทุนเพิ่มค่าฟื้นฟูสุขภาพจากเดิม 24,000 บาท เป็น 40,000 บาท และจะจ่ายค่าทดแทนเพิ่ม จากเดิม 60% ของค่าจ้าง ทุกเดือน นาน 15 ปี เป็น 70% ของค่าจ้างทุกเดือน ตลอดชีวิต เช่น ลูกจ้างได้เงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท หากทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนเดือนละ 7,000 บาท ตลอดชีวิต แม้ว่าลูกจ้างจะฟื้นฟูร่างกายจนสามารถกลับไปทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ กองทุนก็ยังจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้ให้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ผู้ทุพพลภาพ
ส่วนกรณีเสียชีวิตจะเพิ่มค่าทดแทนแก่ทายาทเพิ่ม จากเดิม 60% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นเวลา 8 ปี เป็น70% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นเวลา 10 ปี พรั้อมทั้งให้ค่าทำศพเพิ่มจาก 33,000 บาท เป็น 40,000 บาท อีกด้วย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ลูกจ้างมั่นใจได้ว่าแม้ตนเองจะเสียชีวิตจากการทำงาน ครอบครัวก็ยังได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนเป็นเวลาถึง 10 ปี
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่นั้น ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว ยกเว้น เงินทดแทนทุพพลภาพ 70% ของค่าจ้างทุกเดือน ตลอดชีวิต (ปัจจุบันงินทดแทนทุพพลภาพ อยู่ที่ 70% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี) และสิทธิประโยชน์ค่าทำศพที่เพิ่มเป็น 40,000 บาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวง นอกจากนั้น พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับนี้ ยังขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างในส่วนราชการ ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม และลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศอีกด้วย
“การดูแลผู้เจ็บป่วยจากการทำงานตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนนี้จะครอบคลุมหมด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ผลกระทบจากฝุ่นละอองหรือสารเคมีในโรงงาน หรือแม้แต่โรคออฟฟิศซินโดรมซึ่งมีอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ จากการนั่งทำงานนานๆ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจากการยกของหนักติดต่อกันนานๆ ลูกจ้างก็สามารถรับการรักษาหรือรับเงินทดแทนกรณีต้องหยุดงานจากกองทุนฯ ได้ หรือกรณีทุพพลภาพก็ครอบคลุมหมด ไม่ใช่แค่ตาบอด แขนขาดขาขาด แม้แต่เส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็ได้รับเงินทดแทนเช่นกัน” รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมระบุ
นับว่ากองทุนเงินทดแทนช่วยลดภาระให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงานได้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าบริการแล้ว ยังสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพียงแต่ต้องมีใบรับรองการเจ็บป่วยจากสถานประกอบการและค่ารักษารวมต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่หากเกิน 1 ล้านบาทจนถึงสิ้นสุดการรักษาต้องเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรัฐ แต่หากเป็นกรณีวิกฤตก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ และรับการรักษาได้จนถึงพ้นช่วงวิกฤตโดยไม่ต้องสำรองจ่ายนเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งของ พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับนี้ก็คือ ในเรื่องการดูแลผู้ทุพพลภาพจากการทำงาน ซึ่งนอกจากการรักษาแล้วกองทุนเงินทดแทนยังได้ดูแลในส่วนของการฟื้นฟูร่างกาย ตลอดจนการฝึกอาชีพเพื่อให้ลูกจ้างสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยหลังจากที่เสร็จสิ้นการรักษาแล้วผู้ทุพพลภาพสามารถเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคมทั้ง 5 แห่งที่กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ โดยกองทุนฯ มีค่าฟื้นฟูด้านการแพทย์ เช่น ทำแขนเทียม ขาเทียม ให้คนละ 24,000 บาท นอกจากนั้นในระหว่างฟื้นฟูร่างกายและฝึกอาชีพ ทางศูนย์ยังมีที่พักและอาหารให้บริการแก่ลูกจ้างที่ทุพพลภาพฟรีทั้งหมดอีกด้วย ทั้งนี้ในการฟื้นฟูและฝึกอาชีพนั้นไม่ได้จำกัดระยะเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี
รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ขยายความเรื่องการฟื้นฟูลูกจ้างที่ทุพพลภาพจากการทำงาน ว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้อีกครั้ง เช่น บางรายแขนขาด-ขาขาด หลังจากรับการรักษาและใส่แขนเทียม-ขาเทียมแล้ว ก็สามารถฝึกอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างเย็บผ้า พนักงานโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเมื่อเขาเห็นว่าตนเองยังมีศักยภาพในการทำงานก็จะมีกำลังใจและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป
ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่ากองทุนเงินทดแทนมีที่มาที่ไปอย่างไร และนำเงินจากไหนมาใช้ในการดูแลลูกจ้าง กองทุนเงินทดแทนคือกองทุนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพื่อดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง โดยเป็นกองทุนที่นายจ้างส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว ซึ่งอัตราการส่งสมทบจะขึ้นกับความเสี่ยงของประเภทงาน โดยอยู่ระหว่าง 0.2-1.0% ของค่าจ้างเงินเดือน โดยคิดจากฐานค่าจ้างเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท อาทิ มีลูกจ้าง 3 คน ลูกจ้างแต่ละคนได้เงินเดือนเดือนละ10,000 บาท งานมีความเสี่ยงน้อย อัตราส่งสมทบอยู่ที่ 0.2% ดังนั้นจำนวนเงินที่นายจ้างส่งสมทบ = 10,000 x 12 = 120,000 คิด 0.2% ของ 120,000 = 240 บาทต่อคนต่อปี มีลูกจ้าง 3 คน จึงต้องส่งเงินสมทบรวม (240 x 3) 720 บาทต่อปี ข้อดีคือหากเกิดอะไรขึ้นกับลูกจ้าง กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือดูแล ไม่เป็นภาระกับนายจ้าง
สำหรับ พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่นั้น ได้มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่นายจ้างด้วย โดยกรณีที่ค้างชำระการส่งเงินสมทบ เดิมนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ร้อยละ 3 ของเงินสมทบต่อเดือน แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 ของเงินสมทบต่อเดือน และเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย
นอกจากเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนแล้ว สิทธิประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมต้องการให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญก็คือการแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาล ประจำปี 2562 โดย รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้ผู้ประกันตนแจ้งขอเปลี่ยนสถานพยาบาลได้แล้วตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 สถานพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม ในปี 2562 มีทั้งหมด 237 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 78 แห่ง โดยการแจ้งเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมนั้น สามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทางด้วยกัน คือ
1. ยื่นแบบเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางการแพทย์ สปส. 9-02 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งทั่วประเทศไทย
2. ทำรายการผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th และ
3. ทำรายการผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect โดยเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co และกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเบอร์โทรศัพท์
ทุกคนก็จะมีบัตรประกันสังคมอยู่ในสมาร์ทโฟน ซึ่งการดำเนินการผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้นนอกจากจะสะดวกง่ายดายแล้ว ผู้ประกันตนยังสามารถตรวจสอบได้ว่าโรงพยาบาลที่ตนต้องการเลือกนั้นยังสามารถรับผู้ประกันตนที่จะมาใช้สิทธิประกันสังคมได้อีกหรือไม่ รวมทั้งสามารถตรวจเรื่องอื่นๆ ของตนเอง เช่น ดูยอดเงินสมทบชราภาพ ตรวจสอบสิทธิทันตกรรมอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online