ข่าวทั่วไป : HUAWEI ผลักดันไทยเป็นสนามทดสอบบริการ 5G แห่งแรกในอาเซียน

HUAWEI ผลักดันไทยเป็นสนามทดสอบบริการ 5G แห่งแรกในอาเซียน

HUAWEI ผลักดันไทยเป็นสนามทดสอบบริการ 5G แห่งแรกในอาเซียน ประกาศลงทุน 160 ล้านตั้งศูนย์ R&D ที่ ม.เกษตร ศรีราชา

        นายเจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (HUAWEI TECHNOLOGY) เผยผลักดันไทยเป็นสนามทดสอบบริการ 5 Gแห่งแรกในอาเซียน ประกาศลงทุน 160 ล้านบาทตั้งศูนย์ R&Dที่มหาวิทยาลัยเกษตร ศรีราชา ชลบุรี

       28 มกราคม 2562-นายเจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี(HUAWEI TECHNOLOGY) จำกัด กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสนามทดสอบบริการ 5G ในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ว่าเกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย

       “หัวเว่ย ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กสทช. ที่จะจัดสรรคลื่นมาให้ทดสอบในบริเวณสนามทดสอบบริการ 5G”

       โดยหัวเว่ย จะเข้าไปลงทุนกว่า 160 ล้านบาท (5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในพื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย คอยให้คำปรึกษา และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมทดสอบ และเร่งผลักดันการสร้างนวัตกรรม

        ปัจจุบัน หัวเว่ย ถือเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย ที่ลงนามสัญญา 5G เชิงพาณิชย์มากที่สุดในโลก ด้วยการลงนามไปแล้วกว่า 30 ฉบับ แบ่งเป็นในยุโรป 18 ฉบับ ตะวันออกกลาง 9 ฉบับ และเอเชีย 3 ฉบับ และได้ส่งมอบสถานีฐานไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 25,000 ชุด

          เบื้องต้น ผู้บริหารหัวเว่ย ระบุว่า 5G จะปูทางไปสู่การพัฒนาบริการ และแอปพลิเคชันใหม่ ทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพที่มี AI เป็นผู้ช่วย (AI-assisted Health), ระบบการผลิตอัจฉริยะ, เมืองอัจฉริยะ, การศึกษา ฯลฯ

        ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ข้อมูลเสริมว่า การเตรียมสนามทดสอบ 5G นี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G แต่จริงๆ แล้ว 4G ยังไม่หายไป ยังใช้อยู่ และใช้ต่อเนื่อง

       “ถ้ามองย้อนหลังไป 2-3 ปีในช่วงที่ 4G มาแรกๆ ก็จะเป็นการใช้เฉพาะในบางแห่ง บางอุตสาหกรรม ก่อนแพร่กระจายไปยังทุกอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับ 5G ที่เมื่อนำมาให้บริการในช่วงแรก ก็จะมีโซลูชัน สำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทที่ต้องการนำไปทดสอบ และลองใช้จริง”

        ทั้งนี้ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องคลื่นที่จะนำมาให้บริการ 5G ว่า ตามจริงแล้ว ในต่างประเทศเลือกนำคลื่นอย่าง 26 GHz และ 3.5 GHz มาให้บริการเป็นหลัก จะมีในส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่เลือกใช้คลื่น 700 MHz ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทาง กสทช. ว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Postjung

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก  Postjung