อยู่เมืองอยู่ป่า ได้รับการศึกษา เหมือนกัน“Coding…สู่เด็กดอย”
อยู่เมืองอยู่ป่า ได้รับการศึกษา เหมือนกัน“Coding…สู่เด็กดอย”

ข่าวแม่สอด  :  อยู่เมืองอยู่ป่า ได้รับการศึกษา เหมือนกัน“Coding…สู่เด็กดอย”

อยู่เมืองอยู่ป่า ได้รับการศึกษา เหมือนกัน“Coding…สู่เด็กดอย” ที่โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง

          ดร.รุจิรา เรือนเหมย ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง  สานนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรม Coding…สู่เด็กดอย ก่อนอื่นเรามารู้จัก Coding หรือการเขียนโปรแกรม คือการเขียนคำสั่งเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำงานตามที่เราต้องการ เหมือนเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาษาที่ใช้ในการ Coding มีหลากหลายภาษาแตกต่างกันไป อาทิ C++,JAVA และ Python แต่ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็มีพื้นฐานในการเขียนคล้ายกันอยู่ดี นั่นคือ การแบ่งปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ การคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน การวางแผนและการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงตรรกะ ด้วยเหตุนี้การ Coding จึงเป็นทักษะที่ช่วยให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล แก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับทักษะที่จำเป็นของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างยิ่ง

         ดร.รุจิรา เรือนเหมย ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสอน Coding ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณ จึงได้มอบหมายให้ครูจัดการเรียนการสอน ให้กับนักเรียนตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกๆ เรื่อง และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นตอน พัฒนาสิ่งต่างๆ ต่อยอดจากการ Coding ผ่านกระบวนการคิด การลงมือปฏิบัติ สู่การสร้างนวัตกรรมที่ทันสมัยและสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และยังได้ให้แนวคิดว่าอีกว่า ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็อย่าได้นำปัญหานั้น มาเป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธการสอน Coding ให้กับนักเรียน

         ในส่วนระดับชั้นอนุบาล เราสอนโดยใช้ลูกศร เพื่อให้นักเรียนได้คิดวางแผน ว่าจะเดินไปในทิศทางใด ที่จะทำให้ไปถึงจุดหมายได้เร็วที่สุด จากนั้นจึงใช้ภาพจากนิทานหรือเรื่องเล่าโดยสมมติให้นักเรียนเป็นตัวละครนั้นเดินทางเพื่อไปหาคุณยาย หรือซื้อขนม เด็กๆจะชอบกิจกรรมนี้มาก ครูเอมอร ดาสี กล่าว

         และจากการพูดคุยกับ ครูคงกฤช พิมพา ครูผู้สอน Coding ระดับประถม ก็ได้อธิบายถึงขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ว่า ในช่วงระยะแรก จะเป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Unplugged Coding หรือการฝึกเขียนโค๊ดหรือคำสั่งแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ผ่านสื่อ “Umphang Coding Game” โดยบูรณาการใช้สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญๆ ในท้องถิ่นของอำเภออุ้มผาง อาทิ น้ำตกทีลอซู วัดอุ้มผางธรรมาราม มาเป็นโจทย์ในการ Coding เพื่อฝึกพื้นฐานนักเรียนในการจัดระบบความคิด การแก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน การลองผิดลองถูก การเปรียบเทียบ และการตรวจหาข้อผิดพลาดในการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นสถานที่ใกล้ตัว นักเรียนจึงให้ความสนใจและเรียนรู้ผ่านสื่อ Unplugged ได้เป็นอย่างดี

         และในระยะต่อมา ก็ได้เริ่มต้นการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายโดยใช้สื่อการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ Code.org ซึ่งเป็นสื่อที่นักเรียนสามารถทดลองฝึกเขียนโปรแกรมในรูปแบบ Block Coding ซึ่งมีความเข้าใจง่ายกว่าการเขียนด้วยโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ มีลักษณะคล้ายๆ กับการต่อจิ๊กซอว์ มีสีสันสดใส ทำให้ไม่ต้องสับสนเรื่องไวยากรณ์ตัวภาษาคอมพิวเตอร์ แต่จะเน้นให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และเมื่อฝึกหัดจนคุ้นชินกับโครงสร้างของการเขียนโปรแกรมและเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาแล้ว ก็จะทำให้สามารถเปลี่ยนไปเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้นในอนาคต

         ส่วนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผางได้จัดกิจกรรม Coding ให้แก่นักเรียนโดยใช้โปรแกรม Scratch ซึ่งนักเรียนสามารถฝึกเขียนคำสั่งเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานต่าง ๆ เช่น ภาพเคลื่อนไหว แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เกม ดนตรี ศิลปะ สื่อแบบมีปฏิสัมพันธ์ การเขียนคำสั่งในโปรแกรม Scratch จะเป็นการเขียนแบบ Block Coding เช่นเดียวกับใน Code.org โดยจะใช้บล็อกคำสั่งมาวางต่อกันแทนการพิมพ์คำสั่ง มีตัวละครและฉากที่ใช้สร้างเรื่องราวต่าง ๆ จึงเหมาะกับการให้นักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ได้ใช้ฝึกเขียนโปรแกรมที่ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีระบบ และวางแผนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นลำดับขั้นตอน

         เด็กหญิงนุตาวัลย์ เชษฐตระกูล กล่าวด้วยรอยยิ้ม หนูชอบเรียน Coding ค่ะ เพราะเรียนแล้วสนุก ได้คิด ได้วางแผนในโปรแกรม เหมือนกับว่ากำลังเล่นเกมที่ตัวเองสร้างและออกแบบเอง

         เด็กชายกรวิชญ์ โตวรานนท์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า หลังจากที่ผมเรียน Coding ที่โรงเรียน ผมก็ไปสอนให้แม่ที่บ้านครับ แม่ชอบมาก และยังได้ให้ผมไปช่วยสอนเพื่อนๆน้องๆ ที่โรงเรียนของแม่อีกด้วย

         จาก Timeline Coding ที่โรงเรียนได้ดำเนินการ เป็นการสร้างพื้นฐานให้แก่นักเรียนและฝึกให้นักเรียนได้ลงมือเขียนโปรแกรมหรือชุดคำสั่ง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ นามธรรม โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง ยังมุ่งเน้นการจัดกิจกรรม Coding ให้แก่นักเรียนเพื่อต่อยอดการ Coding สู่รูปธรรม โดยได้จัดตั้งชุมนุม “นักประดิษฐ์แห่งอนาคต” ให้กับนักเรียนที่สนใจในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมีสื่อการเรียนการสอนที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดตั้งชุมนุมนี้ขึ้นมา โดยใช้ KidBright “บอร์ดสมองกลฝังตัว” หรือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีไมโครคอนโทรลเลอร์สามารถรับข้อมูล ประมวลผล และสั่งงานเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยใช้โปรแกรม KidBright IDE ในการสร้างชุดคำสั่งแบบ Block Based Programing ซึ่งมีลักษณะการเขียนชุดคำสั่งคล้ายกับ Code.org และ Scratch แต่มีความซับซ้อนและความสามารถในการสร้างชุดคำสั่งมากกว่า คือต้องการให้ส่วนไหนของบอร์ด KidBright ทำงานก็เอาบล็อกส่วนนั้นมาต่อ แล้วก็กำหนดเงื่อนไขการทำงาน แล้วนำสายเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับบอร์ด แล้วกดปุ่ม Program Build KidBright IDE จะแปลง Block เป็นรหัสที่คอมพิวเตอร์เข้าใจให้ชุดคำสั่งส่งเข้าไปในบอร์ด เท่านี้นักเรียนก็ได้ชื่อว่าเขียนโค้ดได้แล้ว และยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมตามที่นักเรียนต้องการได้อีกด้วย

          กิจกรรม Coding โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง ทำให้นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การวางแผนการทำงานก่อนลงมือปฏิบัติงานต่าง ๆ ทุกครั้ง มีความคิดสร้างสรรค์ มีเหตุผลเชิงตรรกะและมีทักษะในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต และจากการ ที่ผู้บริหารและครู ได้ส่งเสริมและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง มีผลงานเชิงประจักษ์ โดยนักเรียน โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 69 ระดับชาติ ภาคเหนือ ปีการศึกษา 2562 ณ จังหวัดสุโขทัย สิ่งประดิษฐ์มีชื่อว่า “ถังขยะอัจฉริยะ Smart Trash Can” เป็นถังขยะที่สามารถแยกขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก จากบอร์ด KidBright อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ให้เป็นตัวแทนในการนำเสนอและสาธิตผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถังขยะอัจฉริยะ” ให้กับนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ชมผลงาน ในโอกาสเดินทางไปเปิดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน จังหวัดตาก ครั้งที่ 3 ประจำปี 2563 ณ สนามกีฬาบ้านมะโอโค๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อีกด้วย  และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของโรงเรียนในพื้นที่สูงเพื่อยืนยันวลีที่ว่า “อยู่เมืองอยู่ป่า ได้รับการศึกษา เหมือนกัน”

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  FB: ครูคงกฤษ พิมพา , เศรษฐชาติ  แหงมงาม , ข่าวแม่สอด