เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 59 นายแพทย์ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก นายแพทย์บุญเลิศ ศักดิ์ชัยนานนท์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมการป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

          นายแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในกลุ่มประชากรต่างด้าว ปี 2557 พบผู้ป่วยจำนวน 7,270 ราย แม้สถานการณ์ของโรคจะมีแนวโน้มลดลง แต่การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดน การอพยพเคลื่อนย้ายประชากร และการดื้อยา ที่อาจจะส่งผลต่อการควบคุมและป้องกัน จึงจำเป็นต้องเน้นมาตรการควบคุมยุงพาหะหรือลดการสัมผัสยุงพาหะ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกที่สนับสนุนเป้าหมายการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากภูมิภาคนี้ โดยจะควบคุมบริเวณช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และพื้นที่จังหวัดชายแดน

          ทั้งนี้ ด่านพรมแดนแม่สอด จังหวัดตาก เป็นด่านพรมแดนถาวรระหว่างประเทศอยู่ติดกับเมืองเมียวดี สหภาพเมียนมา ภายในนปี 2558 มีผู้เดินทางเข้ามาผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จำนวน 1,248,770 ราย สำหรับการดำเนินงานในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น สุ่มตรวจเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทาง หรือคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรคไข้เหลือง เป็นต้น รวมถึงเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่นๆ

ไข้มาลาเรีย ภัยร้ายของแนวชายแดน โรคต่างแดนมีพาหะคือยุง

          ด้าน นายแพทย์บุญเลิศ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีบทบาทในการจัดระบบสนับสนุนด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยมีมาตรการกำหนด 4 ระดับ ได้แก่

           1.ระดับการประสานงานระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในปี 2559 จังหวัดชายแดนคู่ขนาน มีกลไกร่วมมือด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค รวมถึงทบทวนข้อตกลงความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือของทีมสอบสวนโรค การมีระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ชัดเจน การฝึกอบรมและการซ้อมแผนร่วมกัน

           2.ระดับช่องทางเข้าออกประเทศ ปัจจุบันมีช่องทางเข้าออกจำนวน 23 แห่ง ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งวางแนวทางการพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดครบทุกช่องทาง โดนใช้กลไกการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่ ระบบการทำงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

          3.ระดับจังหวัด เน้นการพัฒนา 10 จังหวัดชายแดนในเขตเศรษฐกิจ ให้มีศักยภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคให้ได้มาตรฐานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก รวมถึงจัดทำโครงการ ความร่วมมือเพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ภายใต้แนวคิด (One Health) และการดำเนินงานด้านโรคจากการประกอบอาชีพแบะสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาอาสาสมัครแรงงานต่างด้าวด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาจังหวัดต้นแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมของหน่วยบริการสาธารณสุขในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 4.จัดตั้งคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการจัดตั้งคลินิกอย่างน้อย 10 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  ไทยรัฐ